“รมต.จักรพงษ์” สั่งเร่งขุดลอกอ่างเก็บน้ำที่ใช้งานมานาน เพิ่มปริมาณความจุน้ำ
วันที่ 1 ก.ค. 67 นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาจังหวัด ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อ ตำบลโนนเต็ง อำเภอคง หลังจากนั้น เดินทางไปที่ว่าการอำเภอบัวใหญ่ และอ่างเก็บน้ำบึงกระโตน ตำบลประทาย อำเภอประทาย ตามลำดับ
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน จึงได้ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม โดยการลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อและอ่างเก็บน้ำบึงกระโตนในวันนี้ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของอำเภอคง สำหรับใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการประมง รวมถึงยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอคง ซึ่งได้ถูกใช้งานมานานมากกว่า 40 ปี ส่วนอ่างเก็บน้ำบึงกระโตน เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของอำเภอประทาย ได้ถูกใช้งานมานานเช่นเดียวกัน โดยทั้ง 2 อ่างฯ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน ส่งผลให้ปริมาณความจุในการเก็บกักน้ำลดน้อยลง สาเหตุจากตะกอนดินที่ทับถมเป็นระยะเวลานาน ในวันนี้จึงได้กำชับให้กรมชลประทานเร่งปรับปรุงสภาพอ่างเก็บน้ำให้สามารถกลับมาใช้งานได้ดังเดิม เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ โดยการขุดลอกอ่างเก็บน้ำให้มีความจุเพิ่มมากขึ้นและปรับปรุงเส้นทางและภูมิทัศน์รอบอ่างเก็บน้ำเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ เช่น การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ การพัฒนาการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่เชื่อมโยงกับเส้นทางหลัก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน รวมทั้งต้องขับเคลื่อนเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำร่วมกันได้อย่างทั่วถึงและเกิดประโยชน์สูงสุด
ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมถึงสภาพปัญหาด้านน้ำและแนวทางแก้ไขว่า จังหวัดนครราชสีมา มักประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่เงาฝน มีฝนน้อยและฝนทิ้งช่วง จึงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาอุทกภัย จากการตื้นเขินของลำน้ำ ทำให้ในปีที่มีปริมาณฝนมาก ลำน้ำจะไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการบุกรุกลำน้ำและสภาพการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่จะต้องประกอบด้วย การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและพื้นที่ชะลอน้ำ, ระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองสำคัญและระบบระบายน้ำ, คันกั้นน้ำ, การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ, การพัฒนาระบบสูบน้ำและกระจายน้ำ และการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อ ความจุ 9.50 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยปีละ 10.42 ล้าน ลบ.ม. โดยกรมชลประทานได้เสนอแผนงาน/โครงการพัฒนาอ่างฯ ประกอบด้วย การก่อสร้างระบบผันน้ำพร้อมอาคารประกอบ สามารถผันน้ำเข้าอ่างฯ
ได้ 5 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 1,000 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 200 ครัวเรือน และการปรับปรุงผิวทางทำนบดินพร้อมอาคารประกอบ ระยะทาง 5 กิโลเมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำบึงกระโตน มีพื้นที่รับน้ำ 27 ตารางกิโลเมตร ความจุ 10.21 ล้าน ลบ.ม. โดยกรมชลประทานได้เสนอแผนงานในการปรับปรุงคันดินรอบอ่างฯ พร้อมอาคารประกอบ พื้นที่รับประโยชน์ 2,573 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 1,500 ครัวเรือน และเกษตรกรสามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรในการลำเลียงพืชผลทางการเกษตรได้