สทนช.บูรณาการข้อมูลน้ำฝน-น้ำท่าแม่นยำสูง รับมือลานีญา/ลดผลกระทบจากภัยน้ำท่วม
สทนช.จับมือ 3 หน่วยงานหลักบูรณาการข้อมูลคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนและน้ำท่าในแต่ละพื้นที่ให้มีความแม่นยำสูง หวังให้หน่วยงานปฏิบัตินำไปใช้จำลองสถานการณ์วางแผนรับมือสภาวะลานีญา ที่คาดฝนตกหนักช่วงส.ค.-ก.ย.นี้ ลดผลกระทบน้ำท่วม พร้อมกักเก็บน้ำใช้แล้งหน้า ย้ำประชาชนรับฟังข้อมูลหน่วยงานรัฐเป็นหลัก
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฤดูฝน ประกอบกับคาดการณ์สภาวะลานีญาที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ที่จะส่งผลให้ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติเฉลี่ยร้อยละ 10 โดยคาดว่าปริมาณฝนจะมีมากขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และอาจต่อเนื่องยาวไปจนถึงปลายปี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ได้ ทั้งนี้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมเตรียมแผนรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ เพื่อให้ทุกหน่วยงานด้านน้ำยึดเป็นหลักในการเตรียมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขภัยอันเกิดจากน้ำให้เหมาะสมกับสภาพและบริบทของแต่ละลุ่มน้ำ รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนตลอดทั้งปี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในช่วงฤดูแล้งถัดไป ทั้งนี้ สทนช.ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนมาตรการและโครงการฯ ดังกล่าวไปสู่แผนปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานอย่างเคร่งครัด และจะติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดด้วย
สำหรับการได้มาซึ่งข้อมูลการคาดการณ์ที่แม่นยำนั้น สทนช.ได้บูรณาการร่วมกับ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ (สสน.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศฯ (จิสด้า) ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานการณ์น้ำฝนและน้ำท่าที่มีความแม่นยำสูง เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรธรณี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้จำลองสถานการณ์ให้ใกล้เคียงกับสภาพการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อซักซ้อมการเตรียมความพร้อมรับมือและป้องกันภัย รวมถึงการปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ ผ่านแม่น้ำ คู คลอง ระบบหรือเครื่องมือชลประทานต่างๆ ที่มีอยู่ได้อย่างแม่นยำ สัมพันธ์และเหมาะสมกับสภาพที่เกิดในพื้นที่นั้นๆ ที่สำคัญคือ สามารถเตือนภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ทันการณ์หรือล่วงหน้า 3 วัน ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน สามารถบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ประเทศไทยจะอยู่ในช่วงฤดูฝนแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่มีฝนตกและอาจประสบภาวะภัยแล้งในอีก 2 เดือนข้างหน้า เช่น พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนมีการหว่านข้าวไปแล้ว ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนในการให้ความช่วยเหลือแล้ว เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร จะดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรในการเลื่อนการเพาะปลูกออกไปเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย ส่วน ปภ. จะสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย และ สทนช.ภาค 3 จะเร่งลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และมั่นใจได้ว่าหน่วยงานของรัฐจะบูรณาการประสานการทำงานเพื่อร่วมป้องกันภัยเหตุอันเกิดจากน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อเกิดเป็นความมั่นคงด้านน้ำให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม
“ในส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย พร้อมกับการวางแผนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนที่จะเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง ปี 2567/68 นั้น สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่และต้องอาศัยน้ำฝนเป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลัก ผ่านระบบประปาท้องถิ่น หรือการจัดหาแหล่งน้ำอื่นๆ เช่น สระ อ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อรองรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนปีนี้ สำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป ทั้งนี้ หน่วยงานด้านน้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการได้ผ่านระบบ Thai Water Plan เชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะสามารถช่วยให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับบริบทแต่ละลุ่มน้ำ” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว