กรมอนามัย ชวนโรงเรียน ผู้ปกครองสนับสนุนการแปรงฟัน สร้างเด็กไทยยิ้มสวย ไปด้วยกัน
ทันตแพทย์ดำรง ธำรงเลาหะพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุขและผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวความร่วมมือ “Bright Smile Together : ยิ้มสวย ไปด้วยกัน” ร่วมกับ นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ประธานคณะกรรมการ Service plan สาขาสุขภาพช่องปาก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.ต.ชวนนท์ ประเทศรัตน์ ผู้บังคับการสนับสนุน กองบัญชาการตำรวจตระเวณชายแดนและนางสาวกาญจน์สุดา ปานะสุทธะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ โรงแรมทีเค พาเลช แอนด์ คอนเวนชั่นว่า ปัจจุบันสุขภาพช่องปากถูกบรรจุเป็นหนึ่งในวาระสุขภาพระดับโลก ตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 74 ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2562 มีคนมากถึง 3.58 พันล้านคน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกที่มีปัญหาโรคในช่องปาก เช่น โรคฟันผุ โรคเหงือก สำหรับประเทศไทยปัญหาในช่องปากของเด็กมีหลายประการแต่ปัญหาที่เด่นชัดที่สุดคือโรคฟันผุ ซึ่งฟันผุพบได้ตั้งแต่อายุ 9 เดือนและผุมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 1-3 ขวบ จากข้อมูลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากครั้งล่าสุด ปี 2566 พบว่า เด็กอายุ 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลมีปัญหาฟันน้ำนมผุ ร้อยละ 72.1 โดยมีฟันผุเฉลี่ย 4.6 ซี่/คน นอกจากนั้นผลสำรวจครั้งล่าสุดพบเด็กที่ฟันผุมีภาวะโภชนาการผอมและค่อนข้างผอมมากกว่าเด็กที่ไม่มีฟันผุ
ทันตแพทย์ดำรง กล่าวต่อไปว่า การป้องกันการเกิดโรคในช่องปากที่สำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้ คือ การแปรงฟัน โดยในกลุ่มเด็กวัยเรียนสามารถดำเนินการผ่านกิจกรรมการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันที่โรงเรียนทุกวัน เพื่อช่วยฝึกทักษะที่ถูกต้องในการดูแลอนามัยช่องปาก เรียนรู้ว่าการแปรงฟันเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปฏิบัติ อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน เมื่อเด็กแปรงฟันเป็นประจำจะเคยชินกับการมีสภาพช่องปากสะอาด พัฒนาให้เป็นสุขนิสัยที่ดีต่อไปจนเป็นผู้ใหญ่ จึงแนะนำให้โรงเรียนจัดการฝึกทักษะการแปรงฟันที่ถูกต้อง ตามแนวทางกิจกรรม “Bright Smile Together : ยิ้มสวย ไปด้วยกัน” ซึ่งควรจะทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ผู้ปกครองกำกับเด็กให้แปรงฟันก่อนนอนทุกวันด้วย รวมทั้งควบคุมการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล เนื่องจากการป้องกันปัญหาฟันผุและเหงือกอักเสบในเด็กจะใช้วิธีการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งมักไม่ได้ผล จะต้องทำควบคู่กันไปทั้งวิธีการทางชุมชน ในโรงเรียน และการดูแลโดยครอบครัว
“การแปรงฟันทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ หลีกเลี่ยงอาหารเสี่ยงฟันผุ และควรทำผสมผสานไปกับโปรแกรมสุขภาพด้านอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เด็กมีฟันดี ไม่มีฟันผุ มีสุขภาพดี พัฒนาการเหมาะสมตามวัย และ
มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุขและผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย กล่าว