แปรรูปอาหารไทยรุ่ง ดันไทยทะยานอันดับ 12 ผู้ส่งออกอาหารโลก ด้าน อินฟอร์มา ผู้จัดงาน ProPak Asia 2024 ชี้แนวโน้มความยั่งยืนยังเป็นกระแสหลัก
นางสาวกชสร โตเจริญธนาผล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้จัดงาน ProPak Asia 2024 กล่าวถึงความสำคัญ แนวโน้มและการพัฒนาของอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารของไทยว่า อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่ใน First S-Curve หรือ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพและมีความสำคัญกับประเทศไทย เพราะเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน ซึ่งล่าสุดประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาอยู่อันดับที่ 12 ของผู้ส่งออกอาหารของโลก ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป รายงานว่า 10 เดือนแรกปี 2566 ไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารมูลค่า 1.31 ล้านล้านบาท เติบโต 3.2% ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกสินค้าเกษตรอาหาร 6.6 แสนล้านบาท เติบโต 9.5% ส่วนของสถานการณ์การส่งออกของอาหารอนาคตใน Future Food มีมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.2% ของอาหารทั้งหมด
ส่วนปี 2567 น่าจะยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ส.อ.ท. หอการค้าไทย และสถาบันอาหาร คาดจะส่งออกได้ 1.65 ล้านล้านบาท สำหรับกลุ่มสินค้าอาหารที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี ได้แก่ กลุ่มผลไม้แช่เย็น-แช่แข็ง กลุ่มไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง กลุ่มอาหารทะเล ทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่แข็งและสินค้าที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เช่น อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ อาหารเฉพาะทาง อาหารฮาลาล และอาหารแปรรูปคุณภาพสูง โดยปัจจัยสำคัญมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้าหลักที่ทยอยฟื้นตัว ประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การท่องเที่ยวในประเทศขยายตัวได้ดี การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องและนโยบายของรัฐที่ออกมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
นอกจากปัจจัยหนุนดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยยังได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถในการผลิตสูงและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้สินค้าอาหารของไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ผนวกกับความได้เปรียบด้านการมีแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติดีถูกปากคนทั่วโลกง่าย โดยหากมองจากการเติบโตของงาน ProPak Asia ที่เป็นงานแสดงเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ชั้นนำระดับเอเชีย ซึ่งในการจัดงาน ProPak Asia 2024 ปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าการค้าและเจรจาธุรกิจในงาน 4 วัน สูงถึง 4,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 12% ส่วนผู้เข้าร่วมงานเป็นนักธุรกิจและผู้ประกอบการไทย 80% และต่างประเทศ 20% ดังนั้นการเติบโตของงานฯ เป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ว่าผู้ประกอบการอาหารของไทยมีการตื่นตัว พัฒนาและลงทุนด้านกระบวนการผลิตตลอดเวลา ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหารของไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ส่วนแนวโน้มและทิศทางของอุตสาหกรรมนั้น ยังมุ่งเน้นการสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อเป็นแนวทางให้การพัฒนาของทุกภาคส่วนเดินไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี การพัฒนาสู่ยุคการผลิตดิจิตอลและปัญญาประดิษฐ์ (Digitalization and AI) การเชื่อมต่อและการทำงานร่วมกัน (Interconnectivity and Collaboration) ที่ช่วยให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งการอนุรักษ์พลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การบริหารจัดการ การประมวลผลข้อมูล เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ สามารถวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเชื่อมโยงระบบการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยให้ธุรกิจปรับตัวได้ดี ในช่วงที่ระบบการผลิตกำลังเปลี่ยนแปลง สร้างผลเชิงบวกต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิต แปรรูป บรรจุภัณฑ์ ต้องมีการออกแบบและการเลือกใช้วัตถุดิบที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายง่าย การเลือกใช้วัสดุ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป เพื่อไปถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)
นอกจากการพัฒนาที่เน้นความยั่งยืนจะส่งผลดีต่อการผลิตแล้ว ยังช่วยสร้างแต้มต่อด้านการค้าในสนามนานาชาติมากขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อาทิ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปที่เป็นเงื่อนไขให้ผู้ผลิตสินค้าของไทย หันมาลดการปล่อยคาร์บอนลง หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) นโยบายสร้างความมั่นคงด้านอาหารของจีน (Food security policy) ลดการนำเข้าและพึ่งพาการผลิตภายในประเทศมากขึ้น หรือแม้แต่ ESG เช่น เรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) และการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม (Fair labor practices) อีกด้วย
ดังนั้น หัวใจของงาน ProPak Asia 2024 นอกจากจะเป็นงานแสดงของเทคโนโลยีกระบวนการแปรรูปอาหาร บรรจุภัณฑ์ การจัดเก็บ และการขนส่ง ครบตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำระดับเอเชีย ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยา เครื่องสำอาง สินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการทุกระดับ ทุกขนาด ยังจัดขึ้นภายใต้แนวคิด การยกระดับความสำเร็จในกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนด้วย แนวคิด นวัตกรรม และการลงทุน (Sustainably Empowering Processing & Packaging Success with Ideation, Innovation and Investment) เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการจะได้พบนวัตกรรมต่างๆ เทคโนโลยีการผลิต แปรรูปเพื่อไปถึง Net Zero Carbon การเลือกใช้วัสดุออกแบบบรรจุภัณฑ์และอื่นๆ ไปต่อยอดลงทุนให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
ภายในงานมีการจัดแสดงแบ่งเป็น 8 โซนหลัก ได้แก่ 1) Processing Tech Asia เทคโนโลยีเพื่อการแปรรูปอาหาร และวัตถุดิบ 2) PackagingTech Asia เทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์ และกระบวนการบรรจุภัณฑ์ 3) DrinkTech Asia เทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม 4) PharmaTech Asia เทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมยา 5) Lab&Test Asia เทคโนโลยีการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานของอาหารและบรรจุภัณฑ์ 6) Packaging Solution Asia เทคโนโลยีเพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป 7) Coding, Marking & Labelling Asia เทคโนโลยีเพื่อการเขียนรหัส ติดป้ายและปักหมายเลขบนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ 8) Coldchain, Logistics, Warehousing & Factory Asia เทคโนโลยีเพื่อการขนส่ง จัดเก็บสินค้า และเทคโนโลยีที่สนับสนุนกระบวนการผลิต มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงกว่า 2,000 แบรนด์ จาก 45 ประเทศทั่วโลก และมีพาวิเลี่ยนจาก 14 กลุ่มประเทศประกอบด้วย ออสเตเรีย บาวาเรีย ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ อเมริกาเหนือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์และไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเทคโนโลยี และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศนั้นๆ ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาร่วมจัดแสดงในงานฯ ส่วนไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ในปีนี้คือ
· ProPak Gourmet ร่วมค้นหาวิธีการยืดระยะเวลาความสดเพื่อเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สัตว์ปีกและอาหารทะเล
· I-Stage เวทีที่รวบรวมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นวัตกรรมและการลงทุนสำหรับโซลูชั่นทางธุรกิจในระบบห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และธุรกิจ FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) สินค้าอุปโภค บริโภค พบกับเซเลป กูรู ในวงการที่จะมาแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์สำหรับผู้ประกอบการ SME (Small and Medium-sized Enterprises) ได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ยั่งยืนในกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ และปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเกี่ยวกับการลงทุนและการขยายกลุ่มธุรกิจ
· Future Food Corner สัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารแห่งอนาคตด้วยเทคโนโลยีการผลิตและบรรจุภัณฑ์
· Lab & Test Teather ค้นพบข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เทคโนโลยีตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานในการแปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม ยา สินค้าอุโภคบริโภคและบรรจุภัณฑ์สินค้าล่าสุด
ด้วยเหตุนี้งาน ProPak Asia 2024 จึงเป็นงานแสดงสินค้าสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาการผลิตและแปรรูปอาหาร และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสร้างรายได้และมูลค้าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ พร้อมช่วยส่งเสริมการเดินทางของนักธุรกิจและผู้ประกอบการจากต่างประเทศในการเข้ามาท่องเที่ยวเชิงธุรกิจซึ่งมีมูลค่าสูงแก่ประเทศไทยด้วย