13 มีนาคม วันช้างไทย’ ทส. – อ.อ.ป. มุ่งสื่อสารให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญ ‘การอนุรักษ์ช้างไทย’ … พร้อมดึงพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ‘สร้างคุณค่า – เชิดชูเกียรติช้างไทย’
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จัดแถลงข่าวในประเด็น “13 มีนาคม วันช้างไทย” โดยมี นางภาวินี ณ สายบุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการแถลงข่าว ร่วมด้วยนายประสิทธิ์ เกิดโต รองผู้อำนวยการสายบริหาร
โฆษกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ณ ห้องแถลงข่าว 101 (ชั้น 1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายประสิทธิ์ เกิดโต รองผู้อำนวยการสายบริหาร โฆษกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 เห็นชอบให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันช้างไทย” และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 เพื่อให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รัก และหวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ช้างให้มากขึ้น เนื่องจากคนไทยมีวิถีชีวิตที่มีความผูกพันกับช้างมาตั้งแต่ในอดีต อีกทั้งยังมีความเคารพและศรัทธาช้าง ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา และช้างยังมี
ความเกี่ยวพันกับสถาบันหลักของชาติไทย ทั้งกับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือก ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์
โฆษก อ.อ.ป. กล่าวต่อไปอีกว่า สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ส.คช.) หน่วยงานในสังกัด องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีภารกิจในการอนุรักษ์และบริบาลช้างไทย โดยมีช้างอยู่ในความดูแลจำนวน 111 เชือก และมีช้างสำคัญที่พำนักอยู่ ณ โรงช้างต้น สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ จำนวน 6 ช้าง ช้างในพระองค์ จำนวน 4 ช้าง และช้างสำคัญที่พำนัก ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จำนวน 3 ช้าง ได้มีกำหนดจัดงาน ‘วันช้างไทย ประจำปี 2567’ ในระหว่างวันที่ 11 – 13 มีนาคม 2567 ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง, ศูนย์บริบาลช้าง บ้านปางหละ อำเภองาว จังหวัดลำปาง และโรงพยาบาลช้างกระบี่ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เพื่อเป็นการเชิญชวนคนไทยได้ร่วมกันรำลึกถึงบุญคุณ รวมทั้งได้เชิดชูคุณค่าและเกียรติของช้างไทยควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างของล้านนา
สำหรับการจัดงาน ‘วันช้างไทย ประจำปี 2567’ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของช้างไทย ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติ และมีส่วนร่วมในการระลึกบุญคุณของช้างที่มีต่อประเทศชาติและคนไทย ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่สนใจ รับรู้เรื่องราวของช้าง ทั้งในเรื่องประเพณี วัฒนธรรม การเลี้ยงช้างของไทยมากยิ่งขึ้น สามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับต่อสาธารณชนได้อย่างกว้างขวาง และเพื่อให้ชุมชนในท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู วัฒนธรรม ประเพณี และร่วมสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามสืบไป โดยในปี 2567 อ.อ.ป. ได้กำหนดรูปแบบการสื่อสารในเรื่องการร่วมรำลึกถึงคุณค่าของช้างไทย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างของล้านนา โดยมีรูปแบบการจัดกิจกรรม ได้แก่ พิธีบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (พระนเรศวรมหาราช, เจ้าพ่อขุนตาน และองค์พระพิฆเนศวร), พิธีบำเพ็ญอุทิศส่วนกุศลให้กับช้าง, พิธีฮ้องขวัญช้าง, การจัดประกวดซุ้มอาหาร, พิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และร่วมรับชมช้างกินอาหารบนสะโตก
นอกจากนี้ ในปี 2567 เป็นปีที่มีความพิเศษมากกว่าปีอื่นๆ เนื่องจาก อ.อ.ป. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย โดยสามารถเข้าร่วมรับชมการถ่ายทอดสดกิจกรรมวันช้างไทย และร่วมเป็น
ผู้ตัดสินการประกวดจัดแสดงซุ้มอาหารช้างบน Facebook Fanpage : ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant
โฆษก อ.อ.ป. กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า อ.อ.ป. มุ่งหวังผลลัพธ์จากการจัดงานในครั้งนี้ จะสามารถทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญและร่วมระลึกบุญคุณของช้างไทยซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติ รวมถึงสามารถการสานต่อแนวทางการอนุรักษ์ช้างไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยสืบไปเพิ่มมากยิ่งขึ้น และร่วมมือร่วมใจกันแสดงพลังความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของช้างไทย พร้อมปลุกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ช้างควบคู่ไปกับการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างของล้านนาเพิ่มมากขึ้น