ธ.ก.ส. ขับเคลื่อน Agro-Tourism ชูชุมชนบ้านสามัคคีธรรม ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยววิถีไทย
ธ.ก.ส. หนุนการท่องเที่ยวไทยสู่ Agro-Tourism โดยดึงจุดเด่นของความงามทางธรรมชาติ วิถีชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชน มาพัฒนาและต่อยอดสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล พร้อมผลักดันการยกระดับชุมชนผ่านโมเดล BAAC Agro-Tourism เชื่อมโยงชุมชนและเกษตรกรสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตั้งเป้าสร้างฐานชุมชนท่องเที่ยว ทั่วประเทศ 97 ชุมชน และพัฒนาเครือข่ายท่องเที่ยวมากกว่า 290 ชุมชน รองรับการเติบโตการท่องเที่ยวชุมชนไปสู่ตลาดโลก ชูชุมชนบ้านสามัคคีธรรม จังหวัดกาญจนบุรี ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยว ธ.ก.ส.
วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2567) นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เยี่ยมชมชุมชนบ้านสามัคคีธรรม ชุมชนท่องเที่ยว ธ.ก.ส. ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมและสัมผัสการท่องเที่ยววิถีชุมชน ซึ่งสมาชิกชุมชนประกอบอาชีพทางการเกษตรและมีการรวมกลุ่มในการประกอบอาชีพเสริมเช่น การนำไม้ไผ่ที่มีมากในพื้นที่มาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ และนำวัสดุเหลือใช้จากเศษไม้ไผ่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่อัดภายใต้แบรนด์ V-WAN และการจักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ เช่น เฝือกไม้ไผ่ แก้วน้ำไม้ไผ่ และหลอดไม้ไผ่ รวมถึงการทำหน่อไม้ดองในน้ำเกลือ ที่มีการหมักตามธรรมชาติและเก็บไว้ได้นานนับปี ถือเป็นของดีชุมชนบ้านสามัคคีธรรมที่เกิดจากการนำวัตถุดิบที่มีในชุมชนมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาชมกิจกรรมการเกษตรที่เกิดจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ แล้วยังสามารถเยี่ยมชมอ่างเก็บบ้านน้ำสามัคคีธรรมที่ได้รับการขนานนามว่า ปางอุ๋งไทรโยค ด้วยการเดินหรือปั่นเรือชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามและเงียบสงบ โดยมีคณะผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่ให้การต้อนรับณ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวและเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยว เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไทยไปสู่ Agro-Tourism โดยเข้าไปสนับสนุนชุมชนในหลายมิติผ่านโครงการ D&MBA (Design and Management By Area) โดยสามารถพัฒนาลูกค้าและชุมชนไปแล้วกว่า 8,889 ราย ทั้งการเติมองค์ความรู้ด้วยโมเดล 1U1C (1 University 1 Community) โดยร่วมกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อต่อยอดการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่าและรองรับการเติบโตใหม่ (New Business) โดยอาศัยทักษะของกลุ่มคนที่ความเชี่ยวชาญในด้านการผลิต การบริหารจัดการธุรกิจ การตลาด การพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการสร้าง Platform เชื่อมโยงธุรกิจภาคการเกษตร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชน นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังนำจุดเด่นของชุมชนมาพัฒนา ต่อยอด และวางแนวทางการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการนักท่องเที่ยว พร้อมผลักดันชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้หลัก BCG โดยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นประโยชน์และคุ้มค่า เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน การพัฒนาและต่อยอดผลผลิตของชุมชนให้มีความหลากหลาย ดีไซน์ทันสมัยและมีมาตรฐานอันนำไปสู่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ พร้อมตั้งเป้าหมายสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร 12 เส้นทางทั่วประเทศ การยกระดับชุมชนท่องเที่ยวสู่มาตรฐานสากล 97 ชุมชน และสร้างฐานเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวทั่วประเทศกว่า 290 ชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้มีรายได้จากการท่องเที่ยว สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะดึงนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย และร่วมสร้างรายได้ให้ชุมชน ไม่ต่ำกว่า 50,000,000 บาท
สำหรับชุมชนบ้านสามัคคีธรรม มีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีภูเขาล้อมรอบ จึงเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม โดยมีพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์และป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ปลูกต้นไม้ได้หลายประเภท อาทิ ต้นประดู่แดง ต้นมะค่าโมง และต้นไผ่ โดยคนในชุมชนมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก จึงมีการนำผลผลิตในพื้นที่มาแปรรูปเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จำหน่ายไปยังตลาด ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะการนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ทั้ง 100% เพื่อลดขยะจากเศษวัสดุและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เช่น นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่อัดภายใต้แบรนด์ V-WAN เฝือกไม้ไผ่ แก้วน้ำไม้ไผ่ หลอดไม้ไผ่ และหน่อไม้ดองปลอดสาร เป็นต้น ทั้งนี้ รายได้ส่วนหนึ่งชุมชนได้นำไปพัฒนาป่าและปลูกไผ่เพิ่ม เพื่อเป็นการคืนธรรมชาติสู่ป่าชุมชนไม่ให้สูญไป
โดย ธ.ก.ส. ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน การส่งเสริมองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ การแปรรูปและการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยและได้มาตรฐาน การให้ความรู้ทางการเงินและกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน การยกระดับองค์กรทางการเงินสู่สถาบันการเงินชุมชน เพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงินและการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านอย่างมีศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันผ่านโครงการธนาคารต้นไม้และการต่อยอดไปสู่การขาย Carbon Credit โดยปัจจัยสำคัญที่ ธ.ก.ส. เข้าไปดูแลคือ การสร้างโอกาสให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสินเชื่อที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี สินเชื่อเสริมแกร่ง SME และสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นต้น