‘รมช.อนุชา‘ มุ่งยกระดับสินค้าเกษตรสู่ระดับสากล เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน หนุนต่อยอดขยายช่องทางการจำหน่ายสู่ต่างประเทศ
วันที่ 18 ธันวาคม 2566 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นประธานพิธีปิดโครงการยกระดับเกษตรกรและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประจำปี 2566 จัดโดย สถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมมอบใบประกาศณียบัตรเกียรติคุณให้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่ได้ขอยื่นการขอรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์สากล IFOAM จำนวน 83 ราย
รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายยกระดับภาคการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ตลอดจน ส่งเสริมเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร (Agricultural Service Provider) โดยเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สามารถเป็นเจ้าของเครื่องมือเครื่องจักรกลของตนเอง พร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกษตร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มประชากรภาคเกษตรยุคใหม่ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยสถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ได้ดำเนินโครงการยกระดับเกษตรกรและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงาน เกษตรจังหวัดทั้ง 8 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน
ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ที่ได้เข้ามามีส่วนช่วยในการยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพด้านองค์ความรู้ให้เกษตรกร และผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ผ่านโครงการยกระดับเกษตรกร และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ และน่าน โดยมุ่งเน้นให้ลดปริมาณปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ทำให้มีการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยินดีที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันทำให้พี่น้องเกษตรกรของไทยอยู่ดีกินดี และเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างเต็มที่
“เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้ จะสามารถจุดประกายโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ที่ยื่นขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล จำนวน 83 ราย โดยหวังว่าจะช่วยพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มในผลิตผลทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ทางเกษตร ด้วยการยกระดับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สู่ระดับสากล รวมถึงต่อยอดการเชื่อมโยงสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์ทางเกษตรสู่ตลาด และขยายช่องทางการจำหน่ายสู่ต่างประเทศต่อไป” รมช.อนุชา กล่าว