สทนช.เฝ้าระวังน้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง คุมเข้มแผนบริหารน้ำเน้นย้ำล่วงหน้า 2 ปี มั่นใจฤดูแล้งนี้น้ำเพียงพอ
สทนช.เกาะติดภาคใต้ฝนยังตกต่อเนื่อง สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมภาคใต้ตอนล่าง ย้ำคุมเข้มการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศให้เป็นไปตามแผน เน้นย้ำการวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี มั่นใจน้ำมีเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งและมีสำรองใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้า
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำ ร่วมกับผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกหนักต่อเนื่องในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่าง 4 จังหวัดคือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ระหว่างวันที่ 18 – 22 ธ.ค.นี้ สทนช. โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ที่จัดตั้งที่ ศอ.บต. จ.ยะลา ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ดังกล่าวตลอด 24ชั่วโมง รวมทั้งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกกว่าร้อยละ 80 และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา จะต้องควบคุมอัตราการระบายน้ำให้มีความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนปัตตานี นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลับและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส อีกด้วย
ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศ ซึ่งได้เข้าสู่ช่วงฤดูแล้งแล้วนั้น สทนช.ได้บูรณาการประสาานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามระวังพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและสามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที
สำหรับสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ล่าสุด ณ วันที่ 14 ธ.ค. 66 มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 62,930 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 76% ของปริมาณการกักเก็บ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 3,781 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เฝ้าระวังปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด 9 แห่ง และให้เฝ้าระวังปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด 3 แห่ง อย่างไรก็ตามจากการติดตามการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ในทุกภาคส่วนขณะนี้ยังใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ โดยจัดสรรไปแล้ว 4,551 ล้าน ลบ.ม. หรือ 21% จากแผนจัดสรรน้ำทั้งหมด 21,810 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคกลางเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยการประเมินสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ 4 ล้านไร่ ขณะนี้เพาะปลูกไปแล้วประมาณ 2 ล้านไร่ คิดเป็น 50% ซึ่งจะควบคุมให้เป็นไปตามแผนอย่างรัดกุม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์เอลนีโญจนถึงเดือน พ.ค. 67 และแนวโน้มฝนปีหน้าอาจจะน้อยกว่าค่าปกติอีกด้วย
นอกจากนี้ยัต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกระเสียว ที่ได้มีการทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่แล้วว่า ไม่สามารถส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ เพราะต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และภาคอุตสาหกรรมบางส่วนเป็นหลัก ทั้งนี้ หากสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จะมีน้ำต้นทุนเพียงพอกับความต้องการตลอดฤดูกาลอย่างแน่นอน
เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อว่า สทนช.ยังได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ล่วงหน้าทั้งประเทศหลังสิ้นสุดฤดูแล้งและเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝนวันที่ 1 พ.ค. 67 ว่าจะมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ประมาณ 44,992 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 63% โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 21,455 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 45% น้ำใช้การ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาจะมีปริมาณต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักรวม 15,297 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างฯบางพระ อ่างฯประแสร์ และอ่างฯหนองปลาไหล รวมประมาณ 296 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% ซึ่งมีปริมาณเพียงพอที่จะสำรองใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหากฝนมาล่าช้า หรือ ฝนทิ้งช่วงอย่างแน่นอน
“สทนช. ได้บูรณาการทุกหน่วยงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในมิติต่างๆ ทั้งสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ และปัญหาเสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ตอนบน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิ ภาพ สทนช.มั่นใจว่า ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะเพียงพอกับสำหรับการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปีนี้ตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะน้ำเพืื่อการอุปโภคบริโภคจะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัตตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2566/67 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด และให้วางแผนบริหารจัดการน้ำไว้ล่วงหน้า 2 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับประเทศ” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย