สทนช.พอใจผลงานศูนย์ฯ น้ำส่วนหน้าภาคกลาง ลดผลกระทบ-สร้างการมีส่วนร่วมผันน้ำเข้าทุ่ง 700 ล้านลบ.ม. เตรียมรับสถานการณ์ฝนลงใต้เสนอตั้งศูนย์ฯ ภาคใต้
สนทช.พอใจผลการดำเนินงานศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯภาคกลาง บูรณาการหน่วยงานทบริหารจัดการน้ำอย่างมีเอกภาพ สามารถบรรเทาผลกระทบได้เป็นรูปธรรม ผันน้ำกักเก็บไว้ใน 11 ทุ่งรับน้ำได้เกือบ 700 ล้าน ลบ.ม. ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนรับมือเอลนีโญ พร้อมเผยฝนเริ่มลงสู่ภาคใต้เตรียมตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ภาคใต้
วันนี้ (17 พ.ย. 2566) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคกลาง ครั้งที่ 40/2566 โดยมีนายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการกองทัพไทย และกรมประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมประชุม ณ โครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ภายหลังการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ตลอดระยะเวลาที่ได้ดำเนินการมาประมาณเดือนครึ่ง คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำฯ ได้บูรณาการทำงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 และ 3 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสภาวะเอลนีโญอย่างเคร่งครัดและเป็นเอกภาพ มีการประชุมกันทุกวัน เพื่อติดตาม ประเมินสถานการณ์น้ำ และวางแผนบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนจัดจราจรทางน้ำ เพื่อที่จะควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที จนสามารถบริหารจัดการมวลน้ำในพื้นที่ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่ยากให้ผ่านพ้นไปได้อย่างน่าพอใจ
นอกจากนี้ ยังได้มีการลงพื้นที่ทำประชาคมรับฟังความเห็นในการรับน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ในทุ่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเป็นอย่างดี ทำให้สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่สำคัญๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันน้ำที่ปล่อยเข้าทุ่งยังช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูข้าว ช่วยไล่หนู กำจัดวัชพืชและยังเป็นการเติมปุ๋ยธรรมชาติเพิ่มความอุดมสมบรูณ์ให้กับดิน รวมทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธ์ปลาอีกด้วย โดยสามารถรับน้ำเข้าทุ่งบางระกำจนถึงปัจจุบันมีปริมาณน้ำจำนวน 368.21 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และ 10 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างมีปริมาณรวมกัน 326.50 ล้าน ลบ.ม.
เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อว่า คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำฯ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและชี้จุด
กำจัดวัชพืชโดยเฉพาะผักตบชวาในพื้นที่คลองญี่ปุ่นเหนือ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี โดยได้บูรณาการหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคประชาชน จัดกิจกรรม Big cleaning day ขึ้นมา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธาน พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผล กระทบจากน้ำท่วม นอกจากนี้ยังได้มีการจัดแถลงข่าว ดำเนินงานด้านประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ตลอดจนสถานการณ์น้ำผ่านทางสื่อแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ สสน. ได้นำรถ Mobile Truck สนับสนุนการให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำแก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อเข้าใจสถานการณ์น้ำและเตรียมความพร้อมรับมืออีกด้วย
อย่างไรก็ตามจากการประเมินสถานการณ์น้ำในขณะนี้ตลอดจนปริมาณฝนตกในพื้นที่ลดลง ไม่ส่งผลกระทบต่อ ปริมาณน้ำในพื้นที่ ระดับน้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ก็มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สามารถควบคุมและบริหารจัดการให้อยู่ในสภาวะปกติ ในวันที้ที่ประชุมจึงมีมติขอยุติการดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป โดย สทนช. จะนำข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆในคณะทำงานฯ และความเห็นของพี่น้องประชาชนไปวางแผนปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น รวมถึงจะรายงานผลให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) รับทราบอย่างเป็นทางการ ซึ่งหลังจากนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการการสำรวจ ตรวจสอบความเสียหาย และฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วต่อไป
“ขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ฝนในพื้่นที่ตอนบนเริ่มลดลง ในขณะที่ภาคใต้มีแนวโน้มฝนตกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ซึ่งจะมีการพิจารณาจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ที่ จ.ยะลา เพื่อให้บริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์” เลขาธิการ สทนช.กล่าวในตอนท้าย