สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายหลายพื้นที่ เร่งเก็บกักน้ำอย่างต่อเนื่อง สำรองใช้แล้งหน้า

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และสำนักเครื่องจักรกล เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ

สำหรับสถานการณ์น้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก อาทิ แม่น้ำปิง  แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน  มีแนวโน้มเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง  กรมชลประทาน  ได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนลดลง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด  ปัจจุบัน(19 ต.ค. 66) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,153 ลบ.ม./วินาที  ระดับน้ำเริ่มทรงตัว  คาดว่าอีก 3 วันข้างหน้า ระดับน้ำจะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เขื่อนเจ้าพระยามีระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ +16.98 ม.ทรก. กรมชลประทาน  ได้รักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนไว้ให้ได้มากที่สุด พร้อมผันน้ำเข้าระบบชลประทานด้านซ้ายและขวาตามศักยภาพในเกณฑ์ที่เหมาะสม  เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านเหนือเขื่อน และเพื่อให้เกษตรกรได้นำน้ำในระบบไปใช้ประโยชน์   พร้อมปรับการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนให้อยู่ในอัตรา 1,650 ลบ.ม./วินาที  ส่วนพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา(ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา) ได้พิจารณารับน้ำเข้าระบบชลประทาน และคลองสาขาต่างๆ  เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ปริมาณฝนที่ลดลง ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย  แต่เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำสะสมจากฝนที่ตกในช่วงที่ผ่านมาไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์อยู่อย่างต่อเนื่อง ทางคณะกรรมการลุ่มน้ำชี  จึงมีมติให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำ โดยจะเริ่มทยอยเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันนี้ (19 ต.ค. 66)  ไปจนถึงวันที่ 22 ต.ค..66 ในเกณฑ์สูงสุดระบายวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนให้อยู่เกณฑ์ควบคุม  พร้อมปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนลำปาวลง ลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ และรองรับปริมาณน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ที่จะไหลมาสมทบในระยะต่อไป

ทั้งนี้  ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำมาก ให้บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงเวลาและปริมาณน้ำในพื้นที่ ปริมาณน้ำจากทางเหนือ  ปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำหนุน  พร้อมกับบริหารจัดการน้ำให้เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การรับ-ส่งน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดให้ได้มากที่สุด   ส่วนในพื้นที่ที่ปริมาณน้ำเริ่มกลับสู่ระดับเก็กกัก ให้พิจารณาปรับลดการระบาย เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าต่อไป ที่สำคัญ ให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง และเร่งเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับภัยพิบัติในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วต่อไป