กรมปศุสัตว์นำทุกภาคส่วนตรวจสอบตู้สินค้าคงค้าง ยืนยันเร่งทำลายเร็วที่สุด
อธิบดีกรมปศุสัตว์ร่วมกับคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเปิดตรวจตู้สินค้าคงค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง ยืนยันขั้นตอนทำลายดำเนินการด้วยความโปร่งใส โดย “หมูเถื่อน” 161 ตู้ที่ได้รับมอบจากกรมศุลกากรแล้ว เหลือที่ต้องทำลาย 140 ตู้ อยู่ระหว่างการหาสถานที่ฝังทำลายที่เหมาะสมใหม่ ส่วนตู้ตกค้าสินค้าอื่น (ไก่ โค กระบือ) จำนวน 74 ตู้ อยู่ระหว่างกระบวนการ รับมอบจากกรมศุลกากรเพื่อนำของกลางไปทำลายตามกฎหมาย ย้ำเดินหน้ายุทธการปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
12 ตุลาคม 2566 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานร่วมในการประชุมกับคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนได้แก่ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เกี่ยวกับการรายงานผลการทำลายตู้สินค้าประเภทซากชิ้นส่วนสุกรของกลาง ในคดีพิเศษที่ 59/2566 จำนวน 161 ตู้ และตู้ตกค้างประเภทอื่น (ไก่ โค กระบือ) จำนวน 74 ตู้ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า หลังจากกรมปศุสัตว์ได้รับมอบซากชิ้นส่วนสุกรของของกลางในคดีพิเศษที่ 59/2566 จากกรมศุลกากรแล้ว เมื่อวันที่ 29-30 กันยายน 2566 กรมปศุสัตว์ได้เผาทำลายจํานวน 1 ตู้ ณ สำนักงานชลประทานที่ 9 จังหวัดชลบุรี และนำไปฝังทำลายจำนวน 20 ตู้ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาน จังหวัดสระแก้ว ช่วงระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม 2566
ต่อมามีการคัดค้านการฝังทำลายซากสุกรดังกล่าวจากชาวบ้านในพื้นที่ คณะทำงานร่วมฯ จึงได้ประสานเพื่อนำตู้สินค้าของกลาง 140 ตู้ ที่ยังไม่ได้ฝังทำลายกลับเก็บรักษาที่ท่าเรือแหลมฉบังชั่วคราว โดยจัดให้มีรถตำรวจทางหลวงนำขบวนรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ แล้วมีรถของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษปิดท้ายขบวน เพื่อนำมาจัดเก็บไว้ที่ลานกลางทุ่ง สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาสถานที่ฝังทำลายที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ยังมีตู้สินค้าตกค้างประเภทอื่น (ไก่ โค กระบือ) จำนวน 74 ตู้ โดยมีหนังสือส่งมอบจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งด่านกักกันสัตว์ชลบุรีอยู่ระหว่างกระบวนการรับมอบเพื่อให้คณะทำงานตรวจสอบตู้ร่วมกัน หลังจากนั้นจะรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมไปดำเนินดคีเพื่อให้ผู้กระทำความผิดรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝังทำลายตามขั้นตอนของกฎหมายด้วยความโปร่งใส และในวันนี้ได้มีการเปิดตู้เพื่อตรวจสอบจำนวน 10 ตู้ ส่วนที่เหลือจำนวน 64 ตู้ หลังจากนี้คณะทำงานฯจะเร่งดำเนินการเปิดตรวจสอบให้ครบทุกตู้โดยเร็วที่สุดต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ทันทีที่หาสถานที่ฝังทำลายซากชิ้นส่วนสุกรของกลางที่เหมาะสมแห่งใหม่ได้ จะเร่งทำลาย ทั้ง 140 ตู้ ส่วนตู้สินค้าตกค้างประเภทอื่น (ไก่ โค กระบือ) จำนวน 74 ตู้ อยู่ระหว่างการรับมอบนำของกลางไปทำลายตามกฏหมาย จะเร่งนำของกลางนำไปทำลายเช่นเดียวกัน เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีที่มีการจับกุมดำเนินคดีลักลอบนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร และภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558
ตลอดปี 2565 ถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับตำรวจ ทหาร ศุลกากร เข้าตรวจสอบผู้ประกอบการสินค้าประเภทซากสุกรรวมจำนวนทั้งสิ้น 238 ครั้ง สามารถจับกุมซากชิ้นส่วนสุกรซึ่งมีแหล่งผลิตต้นทางจากประเทศบราซิล อิตาลี เยอรมนี ลักลอบนำเข้า ปริมาณน้ำหนักรวม 1,142,487 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 190 ล้านบาท