กยท.ฟันธง!แนวโน้มราคายางสดใส มั่นใจปรับตัวเพิ่มขึ้น เตือนเกษตรกรเตรียมรับมือ ภาวะเอลนีโญกระทบผลผลิต

กยท.เตือนเกษตรกรชาวสวนยาง เตรียมรับมือปรากฎการณ์แอลนีโญ อุณหภูมิจะสูงขึ้นฝนตกน้อยลง อาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิต แนะดูแลสวนยางให้ถูกต้อง วางแผนเรื่องการใช้น้ำให้ดี อาจจะต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงขาดแคลน มั่นใจราคายางช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปี2567 มีแนวโน้มสดใสปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยหนุน ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า และสต๊อกยางที่ถูกนำมาใช้จนหมด
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และต่อเนื่องยาวไปจนถึงปี 2567 จะทำประเทศในภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลกรวมทั้งประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญจะทำให้อุณภูมิสูงขึ้นและฝนจะตกน้อยกว่าค่าปกติ น้ำยางจึงออกมาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ความต้องการใช้ยางมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคายางในช่วงปลายปี 2566 และในปีถัดไปมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่สูงขึ้น แต่จะค่อยเป็นค่อยไป โดยขณะนี้ราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 เคลื่อนไหวอยู่ในระดับประมาณ 47 บาทต่อกิโลกรัม และน้ำยางสดราคาประมาณ 43 บาทต่อกิโลกรัม


“ปรากฎการณ์แอลนีโญที่เกิดขึ้นทำให้ผลผลิตยางลดลง จะเห็นได้จากตัวเลขผลผลิตยางสะสมตั้ง แต่เดือนมกราคม2566 ถึงปัจจุบันของประเทศผู้ผลิตยางโลกซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีผ่านที่มา โดยมูลค่าการส่งออกยางพาราแปรรูปสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 ของประเทศไทย ลดลงประมาณ 21% และมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางสะสมลดลงประมาณ 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่าน” นายณกรณ์กล่าว
สำหรับสถานการณ์ราคายางในช่วงที่ผ่านมายังไม่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นนั้น เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และประเทศผู้รับซื้อยางมีการใช้ยางจากสต๊อกยางที่เก็บไว้แทนการนำเข้า จะเห็นได้จากยอดการผลิตยางรถยนต์และยางรถบรรทุกของโลกไม่ได้ลดลงเลย โดยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ยอดการผลิตยางรถยนต์สูงถึง 410.7 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 0.7% เช่นเดียวกับยางรถบรรทุกมียอดการผลิต 47.9 ล้านเส้นเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา


ส่วนทิศทางของราคายางในช่วงปลายปีนี้ มีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยหนุนในหลายๆ ด้าน นอกจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่แล้ว ประเทศผู้นำเข้ายางรายใหญ่หลายประเทศได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาและเยอรมัน มีมาตรการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้น ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะยุติการขึ้นดอกเบี้ยอีกด้วย ในส่วนของประเทศญี่ปุ่น เริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ในขณะที่คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ายางพาราจากประเทศไทยมากที่สุด พยายามรักษาเสถียรภาพการลงทุนภาคเอกชน สร้างการมีส่วนร่วมให้ภาคเอกชนในโครงการสำคัญของรัฐ รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จะทำให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตยางที่ลดลงจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ผนวกกับสต๊อกยางของประเทศผู้นำเข้าถูกใช้ไปจนหมดแล้วจะต้องซื้อยางเข้ามาใหม่ รวมทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่อ่อนตัวลงอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยหนุนที่จะทำให้ยอดการส่งออกยางของไทยและทิศทางของราคายางจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 อย่างแน่นอน


“ราคายางมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในขณะที่ปรากฎการณ์เอลนีโญจะทำให้ผลผลิตมีแนวโน้มลดลง เกษตรกรชาวสวน ยางจะต้องดูแลสวนยางอย่างใกล้ชิดและจัดการสวนยางอย่างถูกต้อง เพื่อให้ยางสมบูรณ์สามารถกรีดยางได้ตามปกติ โดยเฉพาะในเรื่องน้ำ เพราะยางพาราเป็นพืชที่ชอบอากาศที่ชุ่มชื้น หากต้นยางได้รับน้ำที่เพียงพอ ก็จะสามารถผลิตน้ำยางได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น ชาวสวนยางต้องวางแผนเรื่องน้ำให้ดี อาจจะต้องหากแหล่งน้ำกักเก็บ หรือขุดสระเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ เพื่อให้สามารถกรีดยางได้ เพราะหากราคายางเพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรไม่มียางที่จะขาย ราคายางที่เพิ่มขึ้นก็จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆต่อเกษตรกรชาวสวนยางเลย” ผู้ว่าการ กยท.กล่าวในตอนท้าย