กรมส่งเสริมการเกษตร รักษามาตรฐานเป็นเลิศ “คุณธรรมและความโปร่งใส” คว้าคะแนน 91.57 ในปี 2566

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร สามารถรักษามาตรฐานการบริหารจัดการหน่วยงานด้วยความโปร่งใสและมีคุณธรรมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับการประเมินคะแนนดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยผ่านเกณฑ์การประเมินที่คะแนน 91.57 ก้าวขึ้นจากอันดับที่ 17 ในปีที่แล้ว สู่อันดับที่ 12 ในทั้งหมด 22 หน่วยงานซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับหน่วยงานกำกับติดตามการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี ประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยเป็นกรอบแนวทางการประเมินเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ซึ่งการประเมินดังกล่าวกำหนดไว้ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยในปีนี้มีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมการประเมิน ITA 8,323 หน่วยงาน มีเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนเข้ามาร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 1,006,246 ราย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินงานสนองนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้มีการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานเป็นประจำทุกปีเพื่อเดินหน้าส่งเสริม สนับสนุน และอยู่เคียงข้างเกษตรกรไทยอย่างเท่าทันต่อสถานการณ์ในการพัฒนาการประกอบอาชีพการเกษตรให้เกิดความเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ในวาระครบรอบ 55 ปีของการสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตร ในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรได้เริ่มขับเคลื่อนแผนปฏิบัติราชการกรมส่งเสริมการเกษตร ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) มุ่งเน้นพัฒนาดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม โดยยังคงยึดหลักตลาดนำการผลิตตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการขับเคลื่อน BCG Model ให้เป็นส่วนหนึ่งของงานส่งเสริมการเกษตร สร้างการรับรู้แก่บุคลากรทุกระดับให้มีความเข้าใจและร่วมกันขับเคลื่อนรวมทั้งบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ตามแนวคิด “Keep Going, Keep Growing” ก้าวต่อไป เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปรับองค์กรเป็น Digital DOAE มุ่งขับเคลื่อน BCG สู่ความยั่งยืนของภาคเกษตร ประกอบด้วย 9 แนวทางหลัก ได้แก่ การขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน มุ่งพัฒนากรมส่งเสริมการเกษตรสู่การเป็น Digital DOAE พัฒนาเข้าสู่การเกษตรสมัยใหม่และเกษตรมูลค่าสูงด้วย BCG Model ขยายผลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ สร้างผู้ประกอบการเกษตรสมัยใหม่ ส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ พัฒนารูปแบบการส่งเสริมการเกษตรในเมือง และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานส่งเสริมการเกษตรในทุกระดับ

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมวางแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตร ในปี 2567 ให้สอดคล้องตามแผนปฏิบัติราชการกรมส่งเสริมการเกษตร ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกรไทย และยังคงมุ่งมั่นเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรต่อไป ตามวิสัยทัศน์กรมส่งเสริมการเกษตรที่ว่า “เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น”