อ.อ.ป. แถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับสุขภาพ ‘ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์’ และแนวทางการรักษา หลังครบกำหนดกักกันโรค 30 วัน

วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุม 101 (ชั้น 1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จัดแถลงข่าว “ความคืบหน้าเกี่ยวกับสุขภาพ “ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์” และแนวทางการรักษา

นายประสิทธิ์ เกิดโต โฆษกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เปิดเผยว่า หลังจากที่ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ได้ย้ายเข้ามาที่ศูนย์วิจัยและควบคุมเฝ้าระวังโรคสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง (ส.คช.) ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 เบื้องต้น สัตวแพทย์ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจเบื้องต้นในกระบวนการกักกันและเฝ้าระวังโรค ซึ่งผลจากห้องปฏิบัติการให้ผลลบต่อการตรวจโรคดังนี้

1) ไม่พบไข่พยาธิในอุจจาระ (sedimentation and floatation test)
2) ไม่พบพยาธิในเลือดจาก thin blood smear, ELISA and PCR (Trypanosoma evansi)
3) ไม่พบโรควัณโรค แท้งติดต่อ และ ฉี่หนู
4) ไม่พบโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคเฮอร์ปีสไวรัส (EEHV)
5) ผลการตรวจค่าโลหิตวิทยาและชีวเคมีในเลือดปกติ

ประกอบกับช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ สามารถกินอาหารและน้ำได้ดี ขับถ่ายปกติ สามารถนอนราบบนพื้นทรายได้เฉลี่ยคืนละ 1 – 3 ชั่วโมง โดยในทุกๆ วัน สัตวแพทย์จะเข้าทำความสะอาดแผลฝีที่สะโพกทั้งสองข้าง ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีขนาดลดลง และหากพ้นกระบวนการกักโรคแล้ว สัตวแพทย์จะเคลื่อนย้ายช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ ไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลช้าง โดยการรักษาสัตวแพทย์จะต้องคำนึงถึงลักษณะนิสัยช้าง พฤติกรรม สุขภาพทั่วไป ได้แก่ การกิน การดื่ม การขับถ่าย การนอน และ กิจวัตรประจำวัน ร่วมกับความเจ็บป่วยต่างๆ (เช่น ตา ขาหน้าเหยียดตึง, แผลฝี ฯลฯ) และสุขภาพจิต ความเครียดของช้าง เป็นต้น

โฆษก อ.อ.ป. กล่าวต่อไปอีกว่า เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยและรักษาช้างพลายศักดิ์สุรินทร์มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ต้องให้ความร่วมมือในการตรวจรักษา ซึ่งปัจจัยสำคัญในการให้ความร่วมมือจะขึ้นอยู่กับการยอมรับในตัวควาญของช้าง โดยช้างพลายศักดิ์สุรินทร์กับควาญช้างต้องใช้เวลาร่วมกันระหว่าง ฝึกให้ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์คุ้นเคยกับ “คำพูดและอากัปกิริยาต่างๆ” ของควาญช้าง
ในเบื้องต้น ส.คช. ได้กำหนดให้ควาญช้างฝึกให้ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์เดินออกจากบริเวณที่เลี้ยงในระยะทางประมาณ 100 เมตรทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง รวมทั้งให้ควาญช้างเข้าไปสัมผัสบริเวณขาช้างในระหว่างช้างยืนอาบน้ำ และสัมผัสเปลือกตาช้างในขณะที่ช้างนอน เพื่อให้ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์คุ้นเคยกับกิริยาดังกล่าวก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนตรวจวินิจฉัยจากสัตวแพทย์

สำหรับแนวทางการรักษา “ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์” สัตวแพทย์จากสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ได้ร่วมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนคณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผู้แทนคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผู้แทนคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ผู้แทนคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผู้แทนคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้แทนกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้แทนจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พบว่า ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์
มีอาการเจ็บป่วยจากภายนอกและภายในร่างกาย ได้แก่ ตาด้านขวามีอาการคล้ายต้อกระจก, ขาหน้าด้านซ้ายมีอาการเหยียดตึงและผิดรูป และมีการทำงานของไตบกพร่อง ซึ่งมีแนวทางการรักษา ดังนี้

1) ตาด้านขวา มีอาการคล้ายเป็นต้อกระจก (cataract) : เพื่อหาความผิดปกติ ควรเปรียบเทียบตาทั้งสองข้าง รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นเสียงอัลตร้าซาวด์ เพื่อกำหนดตำแหน่งเลนส์ตา ซึ่งจำเป็นต้องใช้
ยาซึมเพื่อให้ช้างอยู่นิ่ง โดยในขั้นตอนต่อไปสัตวแพทย์จะได้ทำการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมและดีที่สุด ซึ่งมีอยู่สองทางเลือก ได้แก่ การรักษาด้วยการสลายต้อ (หากพบว่าช้างมีความผิดปกติ) และการรักษาตามอาการ

2) ขาหน้าด้านซ้าย มีอาการเหยียดตึงและผิดรูป : ขาดังกล่าวมีความผิดปกติเรื้อรังมานาน ซึ่งยังไม่ทราบได้ว่าเกิดความผิดปกติที่ส่วนใด จำเป็นต้องวินิจฉัยทั้งจากการฉายรังสีเอ๊กซเรย์ การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงอัลตร้าซาวด์ การตรวจวัดการเดิน ทั้งใช้เครื่องมือและดูด้วยตาเปล่าเพื่อใช้ในการประเมินประสิทธิผลของการรักษาต่อไป รวมทั้งการใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิเพื่อยืนยันว่าไม่มีการอักเสบ ปวดบวม โดยในเบื้องต้นควรให้การรักษาแบบบรรเทาอาการไปพร้อมกัน ด้วยการให้ช้างออกกำลังกายเบาด้วยการเดินทางตรง การว่ายน้ำ และการประคบร้อนด้วยลูกประคบหรือการใช้เครื่องมือ เช่น เครื่องนวดด้วยคลื่นความถี่สูง, เลเซอร์ (Laser therapy) และ Magnetic shock wave

3) จากการตรวจปัสสาวะติดต่อกัน 3 ครั้ง พบว่า มีโปรตีนปนในปัสสาวะ รวมทั้งค่าถ่วงจำเพาะต่ำกว่าปกติ : ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ถึงการทำงานของไตบกพร่องได้ เมื่อพ้นจากระยะกักตัวแล้วจะย้ายช้างพลายศักดิ์สุรินทร์มายังโรงพยาบาลช้าง จะดำเนินการตรวจวัดค่าความดันเลือด (blood pressure) รวมทั้งคลื่นหัวใจ (EKG) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจากการอาการดังกล่าวอาจตั้งข้อสังเกตว่า ในช้างที่มีความเครียดอาจเกิดภาวะที่พบว่ามีโปรตีนปนอยู่ในปัสสาวะได้ ดังนั้นควรตรวจปัสสาวะต่อเนื่องไปก่อน เพื่อติดตามในระยะยาว

อย่างไรก็ตามเมื่อช้างพลายศักดิ์สุรินทร์เข้าสู่กระบวนการรักษาของ ส.คช. แล้ว จะได้รับการดูแลสุขภาพทั้งทางกายและสุขภาพจิตอย่างใกล้ชิด โดยสัตวแพทย์จะมีการตรวจวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล
ทั้งจากเลือดและอุจจาระอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพิจารณาคัดเลือกควาญช้างที่เหมาะสมกับช้าง ซึ่งปัจจุบันช้างพลาย ศักดิ์สุรินทร์มีควาญช้างอยู่ 3 คนซึ่งทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

นอกจากมีควาญช้างเป็นเพื่อนคอยดูแลแล้ว ในอนาคตอาจจะพิจารณาหาเพื่อนช้างที่สามารถเข้ากับเจ้าพลายได้ให้อยู่เป็นเพื่อน ให้เจ้าพลายใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่สุด สมกับที่ชาวไทยร่วมใจกันนำพาเจ้าพลายกลับมารักษาตัว และให้ใช้ชีวิตในปันปลายในบ้านเกิดเมืองนอน และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ขอยืนยัน
ตั้งปณิธานว่าจะดูแล รักษา เจ้าพลายศักดิ์สุรินทร์ให้ดีที่สุด โฆษก อ.อ.ป. กล่าวทิ้งท้าย