รองปลัด เศรษฐเกียรติ ดึงญี่ปุ่น เสริมเขี้ยวเล็บไทย เพิ่มพื้นที่ GIAHS
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 เวลา 15.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ไร่ชาคาเนโตะ มิอุระเอ็น (Kaneto Miura-en) และพิพิธภัณฑ์ชาฟุจิโนะคุนิ ฉะโนะมิยะโกะ (Fujinokuni Cha-no-Miyako) เมืองชิมาดะ (Shimada) จังหวัดชิซุโอกะ (Shizuoka) ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายโมริอิ ฮิเดยูกิ (Mr.Morii Hideyuki) ผู้อำนวยการและนักเจรจาอาวุโส กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น และคณะ ให้การต้อนรับ ซึ่งรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมรับฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปลูกชาระบบการทำไร่ชาวิถีดั้งเดิม (Chagusaba) ซึ่งเป็นระบบการปลูกชาโดยใช้หญ้ามาปรับสภาพพื้นดิน
สำหรับไร่ชาดังกล่าว องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ให้การรับรองเป็นพื้นที่ระบบมรดกทางการเกษตรของโลก (Globally Important Agricultural Heritage Systems: GIAHS) ของญี่ปุ่น เนื่องจากการปลูกชาระบบ Chagusaba เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่น สะท้อนแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่สร้างวิถีชีวิตในพื้นที่ชนบท ใช้วัสดุทางธรรมชาติหมุนเวียนในการปลูกชา มีการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพโดยมีพืชชนิดอื่นและสัตว์ชนิดอื่นเพิ่มขึ้นในระบบการปลูกชา ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่ GIAHS
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน FAO ได้ให้การรับรองพื้นที่ GIAHS ทั่วโลกทั้งหมด 78 แห่ง ใน 24 ประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นมีพื้นที่ GIAHS ทั้งหมด 15 แห่ง และไทยมีพื้นที่ GIAHS ทั้งหมด 1 แห่ง โดยรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมหารือกับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อผลักดันการเพิ่มพื้นที่ GIAHS ในประเทศไทย
“นอกเหนือจากประเด็นภาวะโลกร้อน (Global warming) แล้ว ประเด็นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาและส่งเสริมเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในสิ่งแวดล้อม เพื่อพลิกโฉมระบบอาหารให้มีความมั่นคงอาหารอย่างยั่งยืนต่อไป” นายเศรษฐเกียรติ กล่าว