กรมหม่อนไหมจับมือจังหวัดลำพูนจัดงานใหญ่ “เส้นทางสายไหม สู่อัตลักษณ์ผ้าไทยล้านนา”
นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม ร่วมกับ นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และนายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน แถลงข่าวการจัดงาน “เส้นทางสายไหม สู่อัตลักษณ์ผ้าไทยล้านนา” พร้อมจัดการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม (ระดับประเทศ) ประจำปี 2566 ซึ่งจะจัดในระหว่างวันที่ 23 – 25 มิถุนายน 2566 ณ สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
งาน “เส้นทางสายไหม สู่อัตลักษณ์ผ้าไทยล้านนา” มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมผ้าไหม ผ้าไทยและศิลปวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคเหนือ ตลอดจนสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายผ้าไทย ภายในงาน มีกิจกรรมเสวนาทางวิชาการด้านผ้าไหมและผ้าพื้นถิ่นภาคเหนือ นิทรรศการ การประกวดผ้าพื้นถิ่น 17 จังหวัดภาคเหนือ การเดินแบบอัตลักษณ์ผ้าไทยล้านนา กิจกรรมเวิร์คช็อป รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน
สำหรับการจัดประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม (ระดับประเทศ) ประจำปี 2566 จะจัดในวันที่ 23 มิถุนายน 2566 แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ประเภทการแข่งขันสาวไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน ทั้งเส้นไหมน้อย เส้นไหมลืบ ทั้งในระดับนักเรียนประถม มัธยมและบุคคลทั่วไป ประเภทผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ตรานกยูงพระราชทานสีทอง สีเงิน สีน้ำเงิน และสีเขียว ซึ่งแต่ละชนิดได้กำหนดให้มีผ้าไหมที่มีชื่อเสียงของไทยเทคนิคต่าง ๆ อาทิ ผ้าไหมยกดอก ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมแพรวา ผ้าโฮล (สตรีและบุรุษ) ผ้าไหมอัมปรม ผ้าขิดไหม ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าขาวม้าไหม ผ้าไหมเทคนิคผสม ผ้าไหมจากทายาทหม่อนไหมในโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งก็จะมีทั้งแบบลายโบราณและลายประยุกต์ นอกจากนี้ ก็จะมีประเภทสิ่งประดิษฐ์จากผ้าไหม ได้แก่ กระเป๋าสตรี ในระดับบุคคลทั่วไปด้วย
ผู้ชนะเลิศจากการประกวดทุกประเภท จะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 – 27 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อีกทั้งจะนำผลงานการประกวดไปจัดแสดงในงานดังกล่าว ซึ่งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนงานหม่อนไหมของประเทศไทยให้คงอยู่เพื่อเสริมสร้างรายได้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนสืบไป