กยท. ร่วมกับ IRRDB เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาแนวทางซื้อขายคาร์บอนเครดิต ช่องทางเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง สร้างอุตสาหกรรมยางอย่างยั่งยืน
กยท. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาโครงการซื้อขายคาร์บอนด้วยการปลูกยาง เพื่อตลาดคาร์บอนโดยสมัครใจ ผนึกกำลังร่วมสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (IRRDB) ยกทัพผู้เชี่ยวชาญร่วมหารือ แลกเปลี่ยนความรู้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากสวนยางฯ พัฒนาตลาดและการใช้สวนยางพาราลดการปล่อยคาร์บอน เพิ่มช่องทางสร้างรายได้แก่ชาวสวนยาง ระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2566 โดยมี ดาโต๊ะเสรี ดร. อับดุล อะซิส (Dato Seri Dr. Abdul Aziz) เลขาธิการ IRRDB กล่าวเปิดงาน และ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “มุมมองของประเทศไทยเกี่ยวกับกระบวนการการจัดการคาร์บอน” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาโครงการซื้อขายคาร์บอนด้วยการปลูกยางเพื่อตลาดคาร์บอนโดยสมัครใจ (Workshop on Developing Carbon Trading Projects with Rubber Cultivation for Voluntary Carbon Market) จัดขึ้นในความร่วมมือกับสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ เพื่อหารือด้านตลาดคาร์บอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความท้าทายและผลกำไร การคิดค้นและดำเนินโครงการการค้าคาร์บอน การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการทำสวนยางพารามีบทบาทสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ งานสัมมนานี้จึงเป็นเวทีแบ่งปันความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ สถาบันการศึกษา ผู้ค้าและผู้ขายคาร์บอน ซึ่งทุกคนมีความรู้และประสบการณ์มากมายในด้านการสร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ผ่านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคืบหน้าล่าสุดของตลาดคาร์บอน เข้าใจการพัฒนาของตลาดอย่างถ่องแท้และมองเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันเป็นสิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกและทำสวนยาง
“ตลาดคาร์บอนโดยสมัครใจและการซื้อขายคาร์บอนเป็นเครื่องมือดึงดูดเกษตรกรชาวสวนยาง ให้มีความสนใจนำสวนยางเข้าร่วมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นโอกาสที่ดีให้พวกเขามีช่องทางได้รับรายได้เสริม สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น” นายณกรณ์กล่าว
สำหรับสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีหัวข้อบรรยายที่น่าสนใจจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ อาทิ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ปลูกยางพาราช่วยบรรเทาได้อย่างไร” “การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์” “ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ: การทดลอง อุปสรรคและผลกำไร” และ “การสร้างโครงการการค้าคาร์บอนเพื่อตลาดการค้าโดยสมัครใจ” ทั้งนี้ ยังมีการศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา และโรงงานยางแผ่นรมควัน ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีด้วย