สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจัดประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ “ท่องเที่ยวบ้านฉัน สร้างสรรค์ท้องถิ่น” ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่นในโครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย”เวทีภาคเหนือ ให้เยาวชนร่วมสืบสานอนุรักษ์ภาษาไทยถิ่น นร.ลำปางคว้ารางวัลชนะเลิศ
เชียงใหม่ 29 เม.ย.- ที่โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซต์ เชียงใหม่ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจัดเวทีการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ “ท่องเที่ยวบ้านฉัน สร้างสรรค์ท้องถิ่น” ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่นในโครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย”สำหรับเยาวชนซึ่งเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-6) จากโรงเรียนต่าง ๆ ของภาคเหนือที่ผ่านการคัดเลือก 10 คนสุดท้าย โดยมี รศ. ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการ และรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรมและตัดสินผู้ชนะในรอบภาคเหนือ ซึ่งการประกวดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 นักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 จะเข้ารับรางวัลในงานวันภาษาไทยแห่งชาติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาต่อไป
รศ. ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่ข้อหนึ่ง คือ มีหน้าที่ ศึกษา อบรมและพัฒนา “ภาษาไทย” ภาษาถิ่น การอนุรักษ์ภาษาไทยไม่ให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม เป็นการส่งเสริมภาษาไทยให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น ซึ่งเป็น Solf Power สะท้อนรากเหง้าวิถีอันงดงาม โดยมุ่งเป้าไปที่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในระดับฐานรากและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้นักเรียนเล่าเรื่องด้วยภาษาถิ่นที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณี การละเล่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โดยเกี่ยวข้องกับจุดเด่นหรือการอนุรักษ์ เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว หรือประเพณีวัฒนธรรม หรือเทศกาลสำคัญประจำปี เพื่อเชิญชวนให้มีการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในท้องถิ่นของตน(โรงเรียนที่อยู่ในภาคใต้ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคใต้, โรงเรียนที่อยู่ในภาคเหนือ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคเหนือ, โรงเรียนที่อยู่ในภาคอีสาน เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคอีสาน และโรงเรียนที่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยมาตรฐาน) ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาจากความสามารถในการใช้ภาษาถิ่น มีเนื้อหาที่ผู้ฟังประทับใจและมีลีลาในการเล่าเรื่องได้อย่างเป็นธรรมชาติสมวัย
ทั้งนี้ในแต่ละปีที่ได้มีการจัดเวทีก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทางราชบัณฑิตยสภาได้ขับเคลื่อนเป็นยุทธศาสตร์ และยังมีกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องอีกมากเพื่อส่งเสริมในเรื่องนี้ เช่น เรื่องของพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นอต่ละภาค พจนานุกรมวรรณกรรมท้องถิ่น ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศ โดยมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะมีพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มภาษาทางด้านคำกริยา 5 กลุ่มออกมาเป็นครั้งแรกด้วย
สำหรับการประกวดปีนี้แบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบแรก สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะคัดเลือกผู้ผ่านรอบแรก จากวีดิทัศน์ของแต่ละภาคที่นักเรียนส่งเข้ามาให้เหลือภาคละ 10 คน ผู้ผ่านรอบแรกพร้อมโรงเรียนจะได้รับเกียรติบัตร จากสำนักงานราชบัณฑิตยสภาและรอบสุดท้ายผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกในแต่ละภาคต้องเล่าเรื่องตามประเด็นเดิมในรอบแรก ต่อหน้าคณะกรรมการคัดเลือกของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เสร็จสิ้นจากเวทีภาคเหนือแล้วจะเป็นเวทีการประกวดของภาคใต้ ในวันเสาร์ ที่ 6 พฤษภาคม 2566 ที่โรงแรม ต้นอ้อย แกรนด์ จังหวัดสงขลาและการประกวดของ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2566 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีท ศรีราชา แหลมฉบัง โดยทุกเวทีการประกวด มีการถ่ายทอดทั้งภาพและเสียงผ่านทางสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้ง 4 ภูมิภาค(เชียงใหม่, ขอนแก่น, สงขลาและบางเขน) ในทุกแพลตฟอร์ม
สำหรับเวทีภาคเหนือผู้ที่ชนะเลิศได้แก่ เด็กหญิงจิราพร ยะทิมา โรงเรียนบ้านแม่อาง จังหวัดลำปาง รองชนะเลิศอันดับ 1 เด็กชายปองคุณ จี้ขาว โรงเรียนบ้านแม่เทย จังหวัดลำพูน และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เด็กหญิงชวัลลักษณ์ จุ่มปี โรงเรียนสันป่าตอง(สุวรรณราษฎร์วิทยาคาร) จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งสามคนจะเข้ารับรางวัลพร้อมทุนการศึกษาในวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2566 พร้อมกับผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศจากภาคต่างๆ ส่วนอีก 7 คน ได้รับรางวัลชมเชยพร้อมเกียรติบัตรและทุนการศึกษา.