4 องค์กรด้านการท่องเที่ยว จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับ TCEB จัดสัมมนายกระดับพื้นที่สู่เมืองเพื่อการประชุมสัมมนา MICE City ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจแบบยั่งยืน

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหินชะอำ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB จัดงานสัมมนา หัวข้อ “ปรับกลยุทธ์ พิชิตธุรกิจ ด้วยความยั่งยืน และการลดโลกร้อน” แก่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ผู้ที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมไมซ์ คณาจารย์ และผู้สนใจ รวม 94 คน ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอรท์ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า “การจัดงานสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นการยกระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดงานไมซ์แบบยั่งยืน ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจและอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งในจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสอดคล้องกับผู้บริโภคยุคใหม่ที่สนใจเลือกซื้อของผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถือเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการจัดการประชุมและสัมมนาอย่างมาก มีโรงแรมที่มีมาตรฐาน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายรูปแบบ มีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนสนับสนุนการประชุมสัมมนา และสามารถพัฒนาเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของประเทศและระดับโลกได้”

นายสายัณต์ สิทธิโชคธรรม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า “การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจที่เกี่ยวกับการจัดงานประชุมอย่างมีความรับผิดชอบในรูปแบบของความยั่งยืน และการลดโลกร้อน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสปน. และวิทยากรจาก ฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สสปน. คุณภัทธิรา นาคงาม ไรเลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก คุณพีรพรรณ อังคสุโข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท NCC ผู้จัดงานประชุม APEC MRT และดร.กรัณย์ สุทธารมณ์ ตัวแทนการตลาด สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคกลาง ”
โดยการประชุมนี้ ได้จัดในรูปแบบแนวปฎิบัติเบื้องต้นสำหรับการจัดงานอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน 25 ข้อ ของ สสปน. โดยเน้นการลงทะเบียนออนไลน์ ลดการใช้อุปกรณ์ตกแต่งเท่าที่จำเป็น หรือเลือกใช้สินค้าที่ผลิตจากชุมชน เป็นต้น และท้ายงานสัมมนายังสามารถแจ้งแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ว่า รูปแบบการประชุมวันนี้ สามารถลดปริมาณคาร์บอนได้กี่กิโลกรัมคาร์บอน หรือ เทียบเท่ากับจำนวนของต้นไม้ที่ปลูกทดแทน ซึ่งถือเป็นหัวใจในการส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาในรูปแบบของความยั่งยืนและการลดโลกร้อนที่ทาง สสปน. มุ่งตอบสนองต่อกระแสขับเคลื่อนของโลกด้านความยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติ และเจตจำนงของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการประชุมผู้นำ COP 26