อภัยภูเบศร ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จัดเวิร์คช็อป ให้ความรู้และสาธิตทำยาสมุนไพรใช้เอง ให้กับชุมชนเครือข่ายสลัมสี่ภาคในเขตกทม.
อภัยภูเบศร ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จัดเวิร์คช็อป ให้ความรู้และสาธิตทำยาสมุนไพรใช้เอง ให้กับชุมชนเครือข่ายสลัมสี่ภาคในเขตกทม. ให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการดูแลสุขภาพทางเลือกโดยการใช้แพทย์วิถีไทย ให้กับชุมชนในเครือข่ายสลัมสี่ภาค ในเขตกรุงเทพมหานคร กว่า 30 คน โดยเชิญ วิทยากรจากมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำโดย พท.ป.ณิชนันท์ ปุ่มเพชร และ พท.ป.ปนัดดา จรัสรัตนโชติ แพทย์แผนไทยประยุกต์ ร่วมบรรยายและให้ความรู้สมุนไพรขั้นพื้นฐาน เพื่อดูแล รักษาเบื้องต้นในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ เป็นหวัด ก็จะใช้สมุนไพรเช่น มะขามป้อม ฟ้าทะลายโจร มะนาว มะแว้ง ขมิ้นชัน กระชาย หูเสือ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มสมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกัน ระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องเสีย เบื่ออาหาร ปวดฟัน ก็จะใช้ สมุนไพร ขมิ้นชัน กล้วย ชุมเห็ดเทศ ขี้เหล็กแมงลัก ฝรั่ง มังคุด ขิง ยอ ฯลฯ
ระบบกล้ามเนื้อกระดูก เช่น ปวดเมื่อย ปวดข้อ กระดูก ก็จะใช้สมุนไพร เถาวัลย์เปรียง กระดูกไก่ดำ ไพล เพชรสังฆาต พลับพลึง ระบบผิวหนัง เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ภูมิแพ้ ผื่นคัน ก็จะใช้สมุนไพร พญายอ พลู กระเทียม ว่านหางจระเข้ บัวบก ระบบอื่น ๆ ก็ใช้สมุนไพรพื้นบ้าน รางจืด บัวหลวง หญ้าปักกิ่ง หญ้าหนวดแมว มะระขี้นก บอระเพ็ด ช้าพลู กระเจี๊ยบแดง ดอกคำฝอย ฯลฯ โดยสมุนไพรแต่ละชนิด มีผลงานวิจัยรองรับว่าใช้ได้ผลจริงจากการทดสอบในคนมาแล้ว โดยสมุนไพรที่ใช้ทุกระบบสามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม อาหารได้หลากหลายเมนู รวมถึงเป็นยาเม็ดแคปซูล และลูกกลอนได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการฝึกปฏิบัติทำยาดมสมุนไพรและพิมเสนน้ำ
นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ร่วมกับ สสส. ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไร้บ้านและคนจนเมือง โดยพบว่าคนไร้บ้านและคนจนเมือง ที่ทางมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยดำเนินงานอยู่ มีปัญหาเรื่องความ ไม่เข้าใจในการใช้พืชผัก สมุนไพร และการยาสมุนไพร อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในชุมชนจะมีพืชผักที่ปลูกไว้หน้าบ้านมีความหลากหลาย ตามสภาพพื้นที่ และถ้าชุมชนมีความรู้ในการนำพืชผักเหล่านั้นมาใช้ไม่ว่าจะเป็นยาหรือเป็นอาหาร การดูแลสุขภาพ หรือการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรได้ ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ อันส่งผลจะทำให้สมาชิกในชุมชนมีสุขภาพดีมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเช่นกัน ดังนั้นมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยจึงได้จัดอบรมในครั้งนี้ขึ้น