อธิบดีฯประพิศ ติวเข้มบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง

เมื่อวันที่ 10 ก.ย.65 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายวิทยา แก้วมี ผู้อำนวยการกองแผนงาน และนายชวลิต ฉลอม ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12  และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมความพร้อมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 11 อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศช่วงวันที่ 10-13 ก.ย.65 ว่า ร่องมรสุมกำลังแรงเริ่มมีกำลังอ่อนลงและจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก นั้น

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้ดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และได้เน้นย้ำให้สำนักเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 11 และ 12 เตรียมความพร้อม 5 แนวทางปฏิบัติของกรมชลประทาน ได้แก่ 1.เก็บกักเต็มประสิทธิภาพ 2.คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง 3.หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง 4.ระบบชลประทานเร่งระบาย 5. Standby เครื่องมือเครื่องจักร เพื่อรับมือปริมาณน้ำที่จะเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง บริเวณแม่น้ำน้อย และแม่น้ำท่าจีน ให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ประสานงานกันในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำที่ไหลมาจากทางตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลอ่าวไทย ให้ใช้ระบบชลประทานและคลองระบายน้ำต่างๆ เร่งระบายน้ำอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความเข้าใจสถานการณ์น้ำให้กับประชาชน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด