เร่งระบายน้ำเหนือ รองรับฝนรอบใหม่ต้น ก.ย. นี้
กอนช. ย้ำแผนการแจ้งเตือนท้ายน้ำล่วงหน้า กรณีเขื่อนปรับเพิ่มการระบาย ด้านกรมชลประทานเร่งพร่องน้ำให้ชาวนาเก็บเกี่ยวก่อนน้ำหลาก
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มทรงตัวและลดลง โดยกรมชลประทานมีการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. 65 จากร่องมรสุมที่จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น อาจส่งผลให้มีฝนตกเกิดน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับน้ำหลาก จึงขอให้กรมชลประทานพิจารณาพร่องระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำหลากและหน่วงชะลอน้ำ โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. สั่งการให้ กอนช. ประเมินสถานการณ์น้ำและติดตามการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด และเน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในการเตรียมรับมือล่วงหน้าหากจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ
“พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสูบน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเร็วที่สุด พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการเตรียมความพร้อมในการรับมืออุทกภัย ทั้งการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที และในกรณีที่จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ให้กรมชลประทานดำเนินการแจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำ
เขื่อนเจ้าพระยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูล แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะเดียวกัน กรมชลประทานยังเร่งดำเนินการพร่องน้ำในคลองชลประทานต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ชลประทาน ให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมการหากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นทุ่งรับน้ำหลากในช่วงตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้” ดร.สุรสีห์ กล่าว
ดร.สุรสีห์ ยังได้กล่าวถึงเกณฑ์การบริหารจัดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ในกรณีที่มีการระบายน้ำ
และอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมด้านท้ายน้ำหรือเหนือน้ำว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้กำหนดให้หน่วยงานขออนุญาตต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ล่วงหน้า 3 วัน เพื่อพิจารณาเห็นชอบ หากเป็นกรณีฉุกเฉินให้ขออนุญาตประธานคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นชอบและให้รายงานคณะอนุกรรมการฯ ในโอกาสแรก อีกทั้งในการอนุญาตนั้น กำหนดให้มีการปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแบบขั้นบันได และต้องบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร