“สภาเอสเอ็มอีไทย”เดินหน้าช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ดึง”บีทีเอส”เปิดพื้นที่ขายฟรีตามสถานีรถไฟฟ้าทั่วกรุง
สภาเอสเอสเอ็มอีไทยเดินหน้าช่วยผู้ประกอบการรรายย่อยพ้นวิกฤติหลังโควิด-19 คลี่คลาย ภายใต้โครงการ”เอสเอ็มอี สมาร์ท โปรวิ้น” เตรียมนำร่องจัดใหญ่เปิดตลาดค้าชายแดนด่านช่องจอม จ.สุรินทร์ปลายกันยายนนี้ ก่อนขยายไปสู่ 36 ด่านถาวรทั่วไทย พร้อมดึงบีทีเอสร่วมเปิดพื้นที่ขายฟรีตามสถานีรถไฟฟ้าทั่วกรุง
ดร.ศุภชัย แก้วศิริ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยหรือสภาเอสเอ็มอีไทยกล่าวในรายการ”เกษตรวาไรตี้” ทางสถานีวิทยุม.ก.ถึงการเตรียมจัดมหกรรมการส่งเสริมการค้าในเขตเศรษฐกิจชายแดนหรือตลาดครอสบอเดอร์เฟส2 ภายใต้โครงการ”เอสเอ็มอี สมาร์ทโปรวิ้น” ณ บริเวณด่านช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ในระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2565 นี้ว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการเรื่องสถานที่และประกาศรับสมัครผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs)ในสาขาต่าง ๆ เพื่อนำสินค้าไปจัดแสดงที่นั่น โดยครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 2 หลังจัดมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2562 ในครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการอย่างคับคั่ง แต่ครั้งนี้จะจัดยิ่งใหญ่กว่าครั้งแรก หลังรัฐบาลประกาศปลดล็อคโควิด-19
“ประเทศไทยมีด่านถาวรทั้งหมด 37 แห่งที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันตลอดเวลา ฉะนั้นการส่งเสริมตลาดครอสบอเดอร์หรือการค้าในเขตเศรษฐกิจชายแดน จึงมีความสำคัญ เพราะเพื่อนบ้านเรารอบ ๆ มีความต้องการสินค้าจากไทยอย่างมาก อย่างเฟสแรกที่จัดเมื่อปี 2562 ตอนนั้นมีการล็อคดาวเพราะโควิด-19ระบาด สินค้าผ่านข้ามแดนได้แต่คนผ่านไม่ได้ เป็นการจัดร่วมกับบริษัทรายใหญ่ด้วย ตลอดการจัดงาน 3 วัน มีมูลค่าการซื้อขายร่วม 50 ล้านบาท รายเล็กได้มา 5 ล้านบาท เขาก็แฮปปี้แล้วครับ”ประธานสภาเอสเอ็มอีไทย ย้อนการจัดงานมหกรรมส่งเสริมการค้าเขตเศราฐกิจชายแดนเฟส1 เมื่อปี 2562 ที่บริเวณด่านช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์
ดร.ศุภชัยเผยต่อว่าการที่ใช้ช่องจอมเป็นโครงการด่านนำร่อง ภายใต้สุรินทร์โมเดล นั้น เพราะมีความพร้อมทั้งเรื่องสถานที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทางจังหวัดสุรินทร์ที่ต้องการโปรโมทเนื้อวากิวสุรินทร์ จากนั้นก็จะขยายการจัดงานไปยังด่านต่าง ๆ ที่เหลืออีก 36 แห่งทั่วประเทศเพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ธุรกิจบริการ ร้านอาหาร โรงแรมและรีสอร์ทและอื่น ๆ จากทั่วประเทศ แต่จะเปิดโอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงก่อน
“เราจะใช้ด่านช่องจอมเฟส2 เป็นแม่แบบให้กับด่านถาวรอื่นอีก 36 ด่านทั่วประเทศด้วย เพราะจากตัวเลขการค้าชายแดนช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด เฉพาะที่ช่องจอมประมาณ 5,000-8,000 พันล้านบาทต่อปี แต่ถ้ารวมทั้ง 37 ด่านทั่วประทศคิดเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 4 แสนล้านบาท ถ้าเอสเอ็มอีมีมาร์เก็ตแชร์ตรงนี้สัก 10 เปอเซนต์ก็ 4,000 ล้านเข้าไปแล้ว แต่นี้ผู้ประกอบการอยู่ได้และมีความสุขแล้ว”ดร.ศุภชัยเผย
ประธานสภาเอสเอ็มอีไทยกล่าวต่อว่า นอกจากเปิดตลาดการค้าชายแดนทั้ง 37 ด่านทั่วประเทศแล้ว ทางสภาก็ยังมีกิจกรรมในจังหวัดเด่นที่มีสินค้าเป็นอัตลักษณ์ขงอตนเอง โดยการนำจุดเด่นของจังหวัดนั้น ๆ มาชูเป็นจุดขาย อย่างงานที่สภาร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรจัดขึ้นที่อ.บางกราย จ.นนทบุรี ภายใต้สโลแกนวิถีวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจนนท์ โดยการนำเอาจุดเด่นของจังหวัดนนทบุรี มาทำเป็นวิถีการท่องเที่ยวทางน้ำ รวบรวมอาหารที่เป็นซิกเนเจอร์ของจังหวัดมาจำหน่าย อย่างเช่น มะม่วงยายกล่ำ หรือยำส้มโอมรกต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจ.นนทบุรี ซึ่งที่อื่นไม่มี อย่างนี้เป็นต้น
สำหรับในส่วนพื้นที่กรุงเทพฯนั้นทางสภาก็ยังได้ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดหาพื้นที่เพื่อจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ด้วย โดยล่าสุดร่วมบริษัท บีทีเอส โฮลดิ้ง กรุ๊ปจัดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำสินค้ามาจำหน่ายบนสถานีรถไฟฟ้า โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
“ทางผู้ใหญ่บีทีเอสท่านให้นโยบายมาว่าอยากทำซีเอสอาร์ช่วยเหลือคนตัวเล็ก อยากให้นำสินค้าไปวางขายตามสถานีต่าง ๆ ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เราก็รีบดำเนินการทันที ครั้งแรกเปิดที่สถานีหมอชิดจำนวน 1 บูธ ระยะเวลา 7 วัน ภายในในบุธก็จะมีสินค้าจากผู้ประกอบการเกือบสิบรายนำมารวมกันขาย จากนั้นก็เปิด บริเวณสกายวอค มาบุญครอง ตรงนั้นชาวต่างชาติเดินผ่านไปมา เขาชอบมาก จนกระทั่งเป็นไวรัลอยู่ในโซเชียลอย่างเมี่ยงคำ เราก็คงจะจัดต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ แต่อาจย้ายไปตามสถานีต่าง ๆ หมุนเวียนกันทุกเดือน”ประธานสภาเอสเอ็มอีไทยกล่าวและว่านอกจากนี้ยังมีอีกกิจกรรมที่สำคัญนั่นคือการนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไปโรดโชว์ยังต่างประเทศในโอกาสต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนสินค้าไทยไปสู่ตลาดโลก ซึ่งในปีหน้าคงจะเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบในทุกกิจกรรม
ดร.ศุภชัยย้ำด้วยว่าไม่เพียงช่องการตลาดเท่านั้น แต่สภายังช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในเรื่องของแหล่งทุนอีกด้วย โดยที่ผ่านมาได้มีการประสานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารของรัฐในการให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้เพื่อผลักดันให้เขาอยู่ในวงจรธุรกิจต่อไป เพราะถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็ง เห็นได้จากข้อมูลตัวเลขผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งประเทศขณะนี้มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย ในขณะที่มีการจ้างแรงงานมากถึง 13 ล้านคน ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินภายในประเทศด้วย
“ที่ผ่านมาเขามีปัญหาก็เพราะโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลกไม่เฉพาะไทย ไม่มีใครอยากให้เกิด เมื่อมีปัญหารัฐก็ต้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือดูแล เพราะถ้าธุรกิจกลุม่นี้อยู่รอดได้ เศรษฐกิจไทยก็รอดด้วย และตรงนี้ยังมีผลในเชิงซัพพลายเชนก็เพราะว่าผู้ประกอบรายการย่อยเขาซื้อของที่ผลิตในประเทศแล้วก็ผลิตสินค้าขายในประเทศ ฉะนั้นก็จะมีเงินหมุนเวียนไม่ว่าจะซื้ออะไร จากไหน ภาษี 7 เปอร์เซ็นต์มันก็หมุนเวียนในประเทศอยู่แล้ว”ประธานสภาเอสเอ็มอีไทยกล่าวย้ำทิ้งท้าย