การบริหารจัดการน้ำของ สทนช. ในยุค ดร.สุรสีห์ เน้นโปร่งใส รอบคอบ เปิดรับความคิดเห็น รุกผลักดันโครงการเพื่อประชาชน

สทนช. ชี้แจงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้การกำกับของเลขาธิการ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เร่งผลักดันโครงการ
ด้านน้ำเพื่อประชาชน โดยต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งให้ความสำคัญในการเปิดรับความเห็นทุกภาคส่วน
โดยเน้นย้ำความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมเรียนรู้ปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

       ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า กรณีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ได้ตีพิมพ์ข่าว “อนาคตการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้แม่ทัพมือใหม่ สทนช.” เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 65 ที่ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของ สทนช. ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ซึ่ง สทนช. วิเคราะห์ข้อคิดเห็นในข่าวดังกล่าวแล้ว พบว่า 

มีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงซึ่งอาจส่งผลให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงขอชี้แจงใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ ประเด็นที่ 1 การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ สทนช. มีการดำเนินงานตามกระบวนการอย่างต่อเนื่องและละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มีความถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์ โดยมีการเร่งรัดการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า พร้อมเน้นย้ำกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานโครงการสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริงอันจะเห็นได้จากความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ 1. โครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล จากกรณีการคัดค้านจากผู้ได้รับผลกระทบและองค์กรต่าง ๆ สทนช. ได้เข้าร่วมตรวจสอบพื้นที่โครงการ พร้อมร่วมชี้แจงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและพิจารณาหาทางออกร่วมกันเพื่อลดความขัดแย้ง พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งรัด
การดำเนินการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและให้บรรลุวัตถุประสงค์โครงการต่อไป ทั้งนี้ โครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพลจะต้องดำเนินการควบคู่กับโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้า
ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงกำหนดให้มีการพิจารณาโครงการไปพร้อมกัน 2. อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด สทนช. ได้มี
การประชุมติดตามเร่งรัดเพื่อขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนในหลายมิติเพื่อทำให้โครงการสามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนมิติการขับเคลื่อนเพื่อ
เตรียมก่อสร้างและของบประมาณ ภายหลังขอความเห็นชอบในการใช้ประโยชน์พื้นที่อุทยานแห่งชาติ จะเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็น และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในหลักการต่อไป
ซึ่งตามแผนจะเริ่มการก่อสร้างในปี 67 – 72

         3. โครงการศึกษาทบทวนแผนแม่บทน้ำ 20 ปี สทนช. ได้ว่าจ้าง สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เพื่อทำการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จากการติดตามพบว่า ผลการดำเนินงานมีความล่าช้ากว่าแผน สทนช.จึงได้มีการทำหนังสือเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามแผน ส่งผลให้สถาบันการขนส่ง จุฬาฯ ได้แจ้งขอปรับเปลี่ยนผู้จัดการโครงการใหม่เพื่อเร่งขับเคลื่อนโครงการฯ พร้อมมอบหมายให้คณะที่ปรึกษาโครงการฯ เข้าประชุมร่วมกับ สทนช. เพื่อรับนโยบายและกำหนดกรอบการศึกษาทบทวนแผนแม่บทน้ำ 20 ปีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและให้ผลการศึกษาเกิดความก้าวหน้าโดยเร็วที่สุด โดยปัจจุบัน โครงการฯ มีผลการดำเนินงาน
ในภาพรวมร้อยละ 60 ซึ่งประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีข้อสั่งการให้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จใน
เดือน ก.ย. 65 เพื่อประกาศใช้ในปี 66 และให้หน่วยงานใช้เป็นกรอบในการเสนอของบประมาณ ซึ่ง สทนช. จะเร่งรัดให้เสร็จทันภายในระยะเวลาที่กำหนด 4. โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน สทนช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อติดตาม พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านต่าง ๆ เพื่อให้โครงการต่าง ๆ สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ โดยได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา
สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำและเขตคลองซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญให้มีความชัดเจนขึ้น เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาปี 63 – 65 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการในโครงการที่มี
ความพร้อมและสามารถทำได้ก่อน รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมของโครงการขนาดใหญ่และโครงการปรับปรุงที่เป็นแพคเกจ โดยในปีงบประมาณ 67 จะสามารถขับเคลื่อนโครงการได้เป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนโครงการที่ผ่านมาเป็นการช่วยผลักดันให้โครงการเดินหน้าต่อไปและเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและลดความขัดแย้งได้ในอนาคต

ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ 2 การดำเนินการบริหารจัดการน้ำ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ในระยะนี้ กอนช. มีการจัดประชุมมอบหมายหน่วยงานในระดับนโยบายน้อยครั้ง เนื่องด้วยยังไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน
ที่มีโอกาสเกิดภัยอย่างรุนแรง อีกทั้งฤดูฝนปี 65 นี้ กอนช. ได้ปรับช่วงเวลาในการเตรียมพร้อมการดำเนินงานให้เร็วยิ่งขึ้น
เมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ โดยมีการเตรียมการมาตรการรับมือตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าฤดูฝนถึง 3 เดือน พร้อมกันนี้ ได้มีการเพิ่มมาตรการใหม่ 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1. ตรวจความมั่นคงทำนบ พนังกั้นน้ำ 2. การจัดเตรียมพื้นที่อพยพซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ และ 3. การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และสำหรับการบูรณาการข้อมูลและการแจ้งเตือนภัย ได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ระบบติดตามสถานการณ์น้ำ (National Thai Water) ระบบทะเบียนแหล่งน้ำ ระบบประชุมทางไกล ประกอบกับการซ้อมแผนเผชิญเหตุ ดังนั้น การประกาศแจ้งเตือนของ กอนช. จึงทำให้หน่วยงานสามารถเตรียมความพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงทีและเกิดผลกระทบกับประชาชนค่อนข้างน้อย และในประเด็นที่ 3 การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมไปถึงองค์การนอกภาครัฐ (NGOs) ในการร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเล็งเห็นว่าการเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลายโดยไม่ปิดกั้น จะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนให้สามารถพัฒนาการดำเนินงานเพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ หากมีหน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลใด ต้องการนำข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ของ สทนช. ไปเผยแพร่ต่อ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมากขึ้น โดยไม่ขัดกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้อง สทนช. ก็ไม่ขัดข้องในการดำเนินการดังกล่าว

“ปัจจุบัน สทนช. เน้นในเรื่องการทำงานเชิงรุกและเปิดรับความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และได้มีการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค เพื่อพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งให้ความสำคัญกับความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ใน
ทุกกระบวนการ โดยได้มีการสร้างระบบติดตามประเมินผลอย่างเข้มข้นเพื่อขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ โดย สทนช. จะมีการติดตามขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ที่ กนช. ให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. อนุมัติโครงการ รวมทั้งจะมีการเร่งรัดโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ การทำงานของ สทนช. ในปัจจุบันได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี และพ.ร.บ.น้ำ พ.ศ. 2561
เป็นเป้าหมายร่วมที่ต้องยึดถือปฏิบัติตาม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
และประเทศชาติ” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย.