กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ย้ำนโยบายมุ่งเน้นวางระบบตรวจสอบการเงินและบัญชีของสหกรณ์ ครอบคลุมด้านบริหารจัดการและการควบคุมภายใน ป้องปัญหาทุจริตในสหกรณ์
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมงานแถลงข่าวพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์
(War Room) โดยมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เป็นประธานการแถลงข่าว ร่วมด้วยนายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
และเจ้าหน้าที่
ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี ในวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุม 134- 135
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในโอกาสนี้ นายอำพันธุ์
เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการวางระบบตรวจสอบทางการเงินและบัญชีของสหกรณ์
โดยกล่าวว่า จากปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในสหกรณ์หลายแห่ง นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดำเนินการตรวจสอบ เร่งรัด ติดตามการแก้ไขปัญหาทุจริต
เพื่อบรรเทาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ต่าง ๆ
โดยในส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์
ได้กำหนดนโยบายตรวจสอบการเงินและบัญชีของสหกรณ์
โดยวางระบบการตรวจสอบที่ครอบคลุมทั้งด้านการบริหารจัดการและการประเมินประสิทธิภาพระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์
โดยมีสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ
ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และผู้สอบบัญชีภาคเอกชน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตรวจสอบทางการเงินการบัญชีของสหกรณ์มีประสิทธิภาพ
โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ได้เริ่มดำเนินการมาตรการเชิงรุกในการจัดทีมตรวจสอบพิเศษ
เข้าตรวจสอบระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์ที่ตรวจสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีภาคเอกชนทุกสหกรณ์ทั่วประเทศ
จำนวน 1,178 สหกรณ์ ทั้งด้านการเงินการบัญชี
และระบบการควบคุมภายใน ซึ่งต้องมีการดำเนินการตามระบบอย่างจริงจัง
ทั้งการเข้าตรวจสอบ แนะนำ และเข้าประเมิน เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำแก่สหกรณ์เกี่ยวกับจุดอ่อนจากระบบการควบคุมภายในที่ตรวจพบ
โดยมุ่งหวังให้สหกรณ์นำไปปรับปรุงแก้ไข เพราะการควบคุมภายในที่ดีนั้น เป็นรากฐานสำคัญต่อที่จะส่งผลให้สหกรณ์สามารถป้องกันการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้ดำเนินการสร้างความตระหนักรู้
ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการ และสมาชิกสหกรณ์ ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเงินการบัญชีของตนเอง
โดยส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการสหกรณ์
ทั้งในส่วนของคณะกรรมการสหกรณ์ ได้มีการส่งเสริมการใช้ระบบ Smart Manage ในการตรวจสอบการดำเนินการของฝ่ายจัดการ
การใช้โปรแกรมตรวจสุขภาพ
ทางการเงินของสหกรณ์ เพื่อดูสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ กรมฯ มีการกำหนดหลักเกณฑ์
คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจสอบกิจการไว้ เพื่อให้มีการสอดส่องดูแลการทำงานของคณะกรรมการดำเนินการและฝ่ายจัดการ
รวมถึงกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานตลอดจนพัฒนาหลักสูตรการตรวจสอบกิจการ เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ตรวจสอบกิจการให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และด้านสมาชิกสหกรณ์ ส่งเสริมให้สมาชิก
มีส่วนร่วมในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน เช่น เงินฝาก เงินกู้ และหุ้น
ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ผ่านแอปพลิเคชัน Smart Member หรือแอปพลิเคชันที่สหกรณ์พัฒนาขึ้นใช้เอง
เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ร่วมเป็นหนึ่งในกลไกตรวจสอบและเสริมสร้างความโปร่งใสให้สหกรณ์
ที่สำคัญ คือ ผู้สอบบัญชีต้องตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชีและระเบียบที่
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด ซึ่งกรมฯ ยังได้เสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้สอบบัญชีให้มีความรู้ด้าน
IT เพิ่มขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยตรวจสอบบัญชี เพื่อให้สามารถให้บริการตรวจสอบบัญชีได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย