สถาปนา 54 ปี สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย “เราจะไม่ทิ้งสหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งไว้ข้างหลัง”
สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กำหนดจัดงานวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 54 ปี ในวันที่ 20มิถุนายน 2565 ณ สันนิบาตสหกรณ์ฯ ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ พร้อม เสวนาร่วมพูดคุยประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานสหกรณ์ ช่องทางที่ก่อให้เกิดการทุจริต และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการป้องกันการทุจริตในสหกรณ์ ภายใต้ชื่อ “ ถามตรงๆ กับจอมขวัญสหกรณ์เขาทุจริตกันอย่างไร? แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา ” ผู้เสวนาประกอบด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ฯ นายไพบูลย์ แก้วเพทาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหกรณ์ นายสิรวิชญ์ ไพศาสตร์ ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ โดยมี นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร ร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ นอกเหนือจากการเสวนา ภายในงานได้นำนิทรรศการ “ วันคล้ายวันสถาปนาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ” มาจัดตั้งเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ร่วมงาน รวมถึงจัดจำหน่ายผลไม้ตามฤดูกาล เช่นทุเรียน เงาะ มังคุด ส้มโอ รวมถึงข้าวเหนียวมะม่วง อาหารแปรรูปต่างๆ
นับเนื่องเป็นเวลา 54 ปีที่สันนิบาตสหกรณ์สหกรณ์ฯ ได้ก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ซึ่งได้มีการจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้ ขึ้น เป็นสหกรณ์ประเภทชุมนุมสหกรณ์เป็นองค์การสูงสุดของขบวนการสหกรณ์ (APEX) ในชื่อว่าสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้ จดทะเบียนตามพ.ร.บ.สหกรณ์พ.ศ. 2471 เมื่อวันที่26 กุมภาพันธ์ 2511 นับเป็นองค์การสูงสุดของขบวนการสหกรณ์ไทยในการเชื่อมโยงสหกรณ์ทุกประเภทเข้าด้วยกัน ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เนื่องจาก กิจการของสหกรณ์ ได้ขยายตัวขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ขึ้นใหม่ให้เหมาะสมในการส่งเสริมขบวนการสหกรณ์ จึงเปลี่ยนจากสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้ มาเป็น สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (ตามส่วนที่ 6 ของพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 104) ให้มีสถาบันขึ้นสถาบันหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งเป็นสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้า แก่กิจการสหกรณ์ทุกประเภททั่วราชอาณาจักรอันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกันและมีบทบาทหน้าที่ (1) ส่งเสริมและเผยแพร่กิจการสหกรณ์ ตลอดจนทำการวินิจฉัยและรวบรวมสถิติเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์ (2) แนะนำช่วยเหลือทางวิชาการแก่สหกรณ์ และอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานระหว่าง สหกรณ์กับส่วนราชการหรือบุคคล (3) ให้การศึกษาฝึกอบรมวิชาการเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ (4) ส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างสหกรณ์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หรือสันนิบาตสหกรณ์ของต่างประเทศ หรือองค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกัน (5) ซื้อ จัดหา จำหน่าย ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง หรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ (6) ส่งเสริมธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม หรือบริการของสหกรณ์ (7) สนับสนุนและช่วยเหลือสหกรณ์เพื่อแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องที่เกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ซึ่งเป็น การกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ( เป็นตัวแทนของสหกรณ์ เพื่อรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากการสนับสนุนของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือภาคเอกชนอื่น (9) ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ บรรดาสหกรณ์อย่างแท้จริง และ (10) ดำเนินการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ แห่งชาติมอบหมาย
ปัจจุบันสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ดำเนินการภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการชุดที่ 25 ซึ่งมีนายประเมศวร์ อินทรชุมนุม ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการ สันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จะไม่ทิ้งสหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งไว้ข้างหลัง” ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย 6 ด้านนำไปสู่เป้าหมาย
- ปฏิรูปสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย : เน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการปฏิรูประบบ
บริหารจัดการงบประมาณสันนิบาตสหกรณ์ฯให้มีประสิทธิภาพภายใต้ระบบธรรมาภิบาลพร้อมจัดตั้งกองทุนกลางและพัฒนาสู่การเป็นธนาคาร (Coop Bank) ปฏิรูปและยกระดับระบบการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสหกรณ์ โดยมีการจัดตั้ง วิทยาลัยสหกรณ์เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาคน พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของขบวนการสหกรณ์ ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดหลักสูตรฝึกอบรม ฟรี ที่เอื้อต่อการ พัฒนานักสหกรณ์มืออาชีพ ปฏิรูปและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (DATA CENTER ) ด้วยระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัยในยุคสหกรณ์ 4.0 รวมทั้งการปฏิรูประบบการเลือกตั้งของสันนิบาตสหกรณ์ฯเพื่อให้ได้ “ คนเก่ง คนดี และมีคุณธรรม ” เข้าสู่ระบบอย่างมืออาชีพ - กระจายอำนาจบริหาร : โดยการจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดหรือเครือข่ายสหกรณ์ระดับ
จังหวัดตามบริบทของพื้นที่การกระจายอำนาจซึ่งเครือข่ายสหกรณ์จะมีอำนาจในการบริหารจัดการแทนสันนิบาตสหกรณ์ฯ กระจายการจัดการฝึกอบรมตามภูมิภาคเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและสร้างความใกล้ชิดระหว่างพี่น้องสหกรณ์ด้วยกัน - จัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม : โดยการจัดสรรงบประมาณร้อยละ 15-30 ให้แก่เครือข่าย
สหกรณ์อย่างเป็นธรรมเพื่อใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ทำบัญชีรายจ่ายตามความเป็นจริงและสะสมเงินที่เหลือเป็นกองทุนต่างๆเพื่อพัฒนาสันนิบาตสหกรณ์ฯและขบวนการสหกรณ์สู่ความเข้มแข็งและมั่นคง - แก้ไขกฎหมายสหกรณ์ : โดยการพัฒนาระบบสหกรณ์ ข้อบังคับ ระเบียบปฏิบัติ เป็นผู้นำ
ขบวนการสหกรณ์ในการแก้ไขกฎหมาย ปรับปรุงเพิ่มเติมข้อบังคับฯ ประกาศนายทะเบียนที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและเอื้อต่อการพัฒนาสหกรณ์พร้อมจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่สหกรณ์ทุกประเภท - เอื้ออาทรกลุ่มรากหญ้า : เน้นการพัฒนาสู่สากลด้วยระบบการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ
ของสหกรณ์ให้สามารถเชื่อมโยงทั้งด้านการเงิน ทุน การผลิต การแปรรูป การตลาดและการกระจายสินค้า สร้างตราสินค้า Brand Co-op ที่จะส่งเสริมการสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างสหกรณ์โดยใช้ Brand ตามที่องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์สากลหรือ ICA ได้ประกาศรณรงค์ให้สมาชิกองค์กรสหกรณ์ทั่วโลกใช้เครื่องหมายการค้า Coop กระจายสู่ตลาดอย่างครบวงจรให้ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ - พัฒนาเครือข่ายสัตตะสหกรณ์: สร้างความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ขยาย
เครือข่ายสหกรณ์ระดับชาติในรูปแบบ “ สภาสหกรณ์แห่งชาติ” ผลักดันการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์ เช่น ชุมนุมสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์การยางฯ จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฯ จำกัด หรือการจัดตั้งเป็นประเภทสหกรณ์เอนกประสงค์ สร้างสหกรณ์เครือข่ายระดับจังหวัดให้มั่นคงในรูปแบบ “ ชุมนุมสหกรณ์จังหวัด ภายใต้หลักการและแนวคิด “ สหกรณ์ก้าวไกล ด้วยน้ำพระทัยในหลวง ” ส่งเสริมความร่วมมือกับชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทให้มีความเชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศ.