“ญาณิศา”แชมป์ประกวดเล่าเรื่องภาษาไทยกลาง ย้อนอดีตกาญจนบุรีจาก”วิถีกาญจน์ย่านปากแพรก”
“ญาณิศา”เด็กกาญจนานุเคราะห์ชนะใจกรรมการ คว้ารางวัลชนะเลิศประกวดเล่าเรื่องภาษาไทยมาตรฐาน หัวข้อ”วิถีกาญจน์ย่านปากแพรก” รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภาย้ำทุกภาษาล้วนมีที่มาของวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 21 พ.ค.65 ณ ห้องการะเกด โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สํานักงานราชบัณฑิตยสภาจัดการประกวดเล่าเรื่อง ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ในโครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย” สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – 3) จากโรงเรียนต่าง ๆในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจำนวน 10 คน โดยมี รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา คณะกรรมการ ครู ผู้ปกครอง นักเรียนและแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน
รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา ในฐานะประธานการจัดประกวดเล่าเรื่องครั้งนี้กล่าวให้โอวาสภายหลังการมอบรางวัลแก่เด็กนักเรียนจากประกวดว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและโครงการที่จะจัดต่อไปในอนาคต
“สิ่งสำคัญที่เราทำเพื่อส่งเสริมในเรื่องของการใช้ภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยมาตรฐานหรือภาษาไทยท้องถิ่น ซึ่งเราให้ความสำคัญเท่ากัน เพราะถือว่าภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติทุกภาษาที่เป็นภาษาไทย มีความสำคัญและเราจำเป็นต้อ งรักษาสืบทอดและพัฒนาต่อไปในอนาคต เพราะภาษาเหล่านี้เป็นการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นคนไทย”
รศ.ดร.ศานติกล่าวต่อว่า สำหรับหัวข้อเล่าเรื่องประกวดปีนี้ก็จะเน้นในเรื่องของท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่สืบเนื่อง ต่อเนื่องกัน พูดง่าย ๆ ว่ารู้แต่ภาษาแต่ขาดที่มา ขาดท้องถิ่นที่เป็นรากเหง้า ขาดความเป็นวัฒนธรรม หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ภาษาก็เป็นแค่เครื่องมือสื่อสารไม่สามารถที่จะแสดงความเป็นตัวตนของเราได้ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญการที่จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมใดได้ลึกซึ้งก็ต้องเข้าถึงที่มาด้วยและทุกที่ของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมา มีที่มาที่ไปทั้งสิ้น
“ แม้กระทั่งที่เรานั่งอยู่ที่ตรงนี้ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์พื้นที่ตรงนี้มีคามสำคัญทางประวัติศาสตร์ พื้นที่ตรงนี้อยู่ติดกับวัดพิชัยสงคราม ซึ่งเป็นจุดตั้งทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนที่ตีฝ่าลงล้อมไปจันทบุรี ตรงนี้เป็นหมุดหมายสำคัญอันหนึ่งที่นำไปสู่จุดก่อกำเนิดของกรุงธนบุรีและสืบเนื่องต่อมาเป็นกรงุรัตนโกสินทร์ครบรอบ 240 ปีในปัจจุบันเพราะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นรากเหง้ารากฐานที่มาภาษา วัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธกันและอยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญรู้คุณค่าและสามารถต่อยอดต่อไปในอนาคตด้วย”
ประธานการจัดประกวดฯย้ำด้วยว่าการจัดประกวดในครั้งนี้เป็นภาคสุดท้าย ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีโรงเรียนต่าง ๆ คุณครู น้อง ๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราอยากจะสืบสานสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้ดำรงอยู่ต่อไปและทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้แต่จะต่อยอดต่อไปในอนาคต และปีหน้าเราจะจัดกิจกรรมเช่นนี้อีกและหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากคุณครูและโรงเรียนต่าง ๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมต่อไปเช่นเดิม
เด็กหญิงญาณิศา ว่องชิงชัย นักเรียนชั้นมัธยมปีที่3 โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ชนะใจคณะกรรมการสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้สำเร็จ จากการพูดในหัวข้อ”วิถีกาญจน์ย่านปากแพรก”เป็นการบอกเล่าประวัติความเป็นมาของชุมชนปากแพรกหรือตัวเมืองกาญจนบุรีในปัจจุบัน
โดยเธอบอกว่าได้รับการถ่ายทอดข้อมูลนี้มาจากคุณยายว่าเมื่อก่อนนั้นกาญจนบุรีเป็นเมืองชายแดนเล็ก ๆ ที่ใช้เป็นเส้นทางเดินทับระหว่างไทยกับเมียนมามาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่หลังจากสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้นครองราชทรงรับสั่งให้ย้ายเมืองกาญจนบุรีจากทุ่งลาดหญ้ามายังปากแพรกด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์และง่ายต่อการคมนาคมทางน้ำ และสิ่งที่เรียกว่าปากแพรกนั้นคือจุดที่แม่น้ำแควน้อยจากอ.ไทรโยคและแม่น้ำแควใหญ่จากอ.ศรีสวัสดิ์ไหลลงมาบรรจบกันรวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง
ปัจจุบันคนเมืองกาญจน์นิยมเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าหน้าเมือง เนื่องจากทุก ๆ เช้าจะมีเรือบรรทุกสินค้ามาจากฝั่งเหนือผ่านทางแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่มาจำหน่ายบริเวณหน้าเมือง สินค้าส่วนมากจะเป็นพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล ตลอดเส้นทางสองฝั่งแม่น้ำและพื้นที่ในปากแพรกยังซ่อนความลับในสงกรามโลกครั้งที่สองไว้มากมาย
“รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลจากการประกวดครั้งนี้ ได้ประสบการณ์ที่ดี ภูมิใจมาก ๆ ค่ะ”เจ้าของรางวัลชนะเลิศกล่าวอย่างภูมิใจ
เช่นเดียวกับเด็กหญิงธนิษฐ์ชญา ฮะสูน นักเรียนชั้นมัธยมปีที่3 โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์(ฝ่ายมัธยม) อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีความรู้สึกดีใจไม่ต่างกัน หลังเธอสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 จากการพูดเล่าเรื่องในหัวข้อ”หัวหินถิ่นนี้มีดีมากกว่าทะเล”
เธอเล่าว่าหากพูดถึงหัวหินทุกท่านจะรู้แค่หาดทรายและทะเล คุณยายเล่าให้ฟังว่า เดิมหัวหินไม่ใช่แหล่งชุมชนเหมือนทุกวันนี้ หลังจากคนในตำบลบางแก้วทางฝั่งเพชรบุรีอพยพย้ายถิ่นฐานมาเกิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ แล้วขยายใหญ่โตขึ้นมาจนปัจจุบัน หัวหินแต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่าสมอเรียง เป็นภาษาขอม แปลเป็นไทยได้ว่าบ้านแหลมหิน ต่อมาจึงเรียกว่าหัวหิน แต่จะรู้จักกันในเพลงหัวหินเป็นถิ่นมีหอย เนื่องจากสมัยชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงมาจับปลาหาหอยกันมากที่หัวหิน เนื่องจากชายฝั่งแถบนี้มีหอยชุกชุม เมื่อชาวบ้านเห็นฝรั่งอาบแดดอยู่ที่โขดหิน จึงเกิดเป็นเพลงแซวฝรั่งขึ้นมาว่า”หัวหินเป็นถิ่นมีหอย ฝรั่งนั่งคอยจนหอยติดหิน” แล้วเพลงนี้กลายเป็นเพลงกีฬาสี เพลงค่ายลูกเสือติดหูมาจนทุกวันนี้
“พื้นที่หิวหิน ประจวบฯติดกับเพชรบุรีและชุมพรก็รับเอาวัฒนธรรมจากทั้งสองที่มาผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน เสียงที่ติดเหน่ออยู่บ้างก็ได้รับสำเนียงมาจากเพชรบุรี คนหัวหินก็จะเหน่อหน่อย ๆ นี่เป็นเวทีแรกของหนูที่ได้มาพูดต่อหน้าคณะกรรมการ ตอนแรกรู้สึกประหม่า แต่หนูคิดว่าเรามาถึงตรงนี้แล้วก็ต้องทำให้เต็มที่ทำให้ดีที่สุด ดีใจที่ได้รับรางวัลครั้งนี้”เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 กล่าวอย่างภูมิใจ
ทั้งนี้การประกวดเล่าเรื่องดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2565 ภายใต้โครงการ”รู้ รัก ภาษาไทย” จัดโดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ซึ่งได้จัดมาแล้วใน 3 ภูมิภาค ภาคใต้ ที่จ.สงขลา และภาคเหนือที่จ.เชียงใหม่ ภาคอีสานที่จ.ขอนแก่น และครั้งนี้เป็นเวทีของภาคกลางและภาคตะวันออก โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 ของแต่ละภุมิภาค จะเข้ารับรางวัลในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานครต่อไป
อย่างไรก็ตามในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งจะถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุ ม.ก.kurplus เชื่อมเครือข่ายทั้ง 4 ภูมิภาคและระบบออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มด้วย