กยท. ชี้ราคายางยังเป็นบวก ผลิตได้น้อยกว่าตลาดต้องการ แถมลุยพัฒนาเต็มพิกัด ทั้งระบบประมูลอิเล็กทรอนิกส์-ปรับระเบียบจ่ายเงินกองทุนมาตรา 49(3)

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น. การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้จัดงาน “Talk About Rubber” ประจำเดือนพฤษภาคมขึ้น ณ ห้องประชุมราชไมตรี อาคาร 50 ปี ชั้น 4 การยางแห่งประเทศไทย บางขุนนนท์ โดยมีนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิด พร้อมนำเสนอผลงานและรายงานการวิเคราะห์ต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย เช่น นโยบาย Start Up Rubber เปิดเส้นทางธุรกิจยางพาราไทย, การวิเคราะห์สถานการณ์ยางพาราไทย ไตรมาส 2/2565 การขับเคลื่อนวงการยางพาราของไทย ผ่านกองทุนพัฒนายางพารา 49(3)
ทั้งนี้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ราคายางพาราในช่วงไตรมาสต่อไป คาดว่าจะอยู่ในระดับทรงตัว มีราคาดีเป็นที่น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ราคาอาจมีการปรับตัวเล็กน้อย แต่มั่นใจว่า ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าพอใจ ด้วยในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ราคายางค่อนข้างมีเสถียรภาพ เห็นได้ว่า ไม่ค่อยมีการแกว่งตัวเท่าใดนัก และในปี 2565 สมาคมกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ หรือ ANRPC คาดการณ์ว่า ปริมาณความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลกจะมีสูงกว่าปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด
ผู้ว่าการ กยท. ยังได้กล่าวถึงผลผลิตยาง ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2565 ว่า ผลผลิตยางทั่วโลกมีประมาณ 4.426 ล้านตัน และมีการใช้ยางประมาณ 4.523 ล้านตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั่วโลกมีความต้องการใช้ยางมากกว่าผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด ประมาณ 97,000 ตัน สำหรับประเทศไทยในไตรมาสที่ 2/2565 คาดมีผลผลิตออกสู่ตลาด 0.763 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 14.37%
“ ส่วนในเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 0.209 ล้านตัน และ 0.393 ล้านตัน ตามลำดับ แต่เนื่องจากสภาพอากาศและฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน และผลจากพายุไซโครน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ประกอบกับสถานการณ์โรคใบร่วง จะส่งผลให้ผลผลิตยางไตรมาสนี้ออกสู่ตลาดลดลง”
พร้อมกันนี้ ยังได้กล่าวถึงระบบประมูลยางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านตลาดของ กยท. ว่า กยท. นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาระบบประมูลยาง เริ่มใช้กับการประมูลยางก้อนถ้วย ช่วยให้ผู้ประมูลยางสามารถเข้าประมูลยางได้สะดวกขึ้นผ่านหน้าจอมือถือ โดยสามารถทราบข้อมูลยาง เช่น DRC และเห็นสภาพของยาง การจัดเก็บยาง เพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะได้รับยางพาราที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคา ทั้งนี้ เป็นการประมูลแบบปิด ผู้ประมูลแต่ละรายจะไม่ทราบราคาประมูลของกันและกัน เพื่อความเป็นธรรม ราคาประมูลจะเป็นไปตามกลไกตลาด มีการกำหนดราคากลางเปิดตลาดร่วมกันโดย กยท. และสถาบันเกษตรกรผู้ขายยาง
ส่วนของกองทุนพัฒนายางพารา 49(3) ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท. ได้เน้นการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อนำไปใช้ในการแปรรูปผลผลิต โดยยังยึดหลักการสนับสนุนเกษตรกรในโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ยางพารา โดยในปี 2565 มีงบประมาณเพื่อให้กู้ยืมและงบอุดหนุน จำนวน 880,000,000 บาท มีเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการจำนวน 774 ราย แบ่งเป็น เงินกู้ยืม จำนวน 61 ราย งบประมาณจำนวน 67,903,000 บาท และเงินอุดหนุน 713 ราย งบประมาณจำนวน 107,343,772.07 บาท งบประมาณรวมทั้งสิ้น 175,246,772.07 บาท สำหรับปี 2566 ได้อนุมัติกรอบงบประมาณเงินกู้ยืม จำนวน 424,853,000 บาท และเงินอุดหนุน จำนวน 568,268,000 บาท
“ สำหรับการปรับปรุงระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตร 49(3) พ.ศ. 2562 แลแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ซึ่งทำการปรับปรุงเพื่อให้การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพารา ในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ามากที่สุด และเพื่อให้การปฏิบัติมีความถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงมีประเด็นสำคัญที่จะแก้ไข ได้แก่ การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเงินกู้ยืม และเงินอุดหนุนเพิ่มเติม, หลักเกณฑ์การมีส่วนร่วมในการลงทุนของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร, การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยค่าปรับกรณีค้างชำระ ,การเพิ่มวงเงินและอำนาจการอนุมัติเงินกู้ยืมและวงเงินอุดหนุน, รูปแบบการให้เงินอุดหนุน, แนวทางการเบิกจ่ายเงิน และการตรวจสอบ การติดตามประเมินผล และการรายงานผลดำเนินการ รวมถึงระยะเวลาการให้กู้ยืมเงินและเงินอุดหนุน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน สิงหาคม 2565” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว