เด็กคำเตยวิทยา แชมป์เล่าเรื่องภาษาถิ่นอีสาน
เด็กคำเตยวิทยา เมืองยโสธร คว้ารางวัลชนะเลิศประกวดเล่าเรื่องภาษาไทยถิ่นอีสาน ชูงานบุญมาลัยข้าวตอกหนึ่งประเพณีพื้นถิ่นเดียวในโลก รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภาเผยภาษาถิ่นเป็นการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นตัวตน เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
เมื่อวันที่ 7 พ.ค.65 ที่โรงแรม อวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น สํานักงานราชบัณฑิตยสภาจัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ด้วยภาษาไทยถิ่นภาคอีสานตามโครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย” สำหรับเยาวชนซึ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – 3) จากโรงเรียนต่าง ๆในภาคอีสานโดยมี รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา และคณะกรรมการ ครู ผู้ปกครองนักเรียนและแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน ซึ่ง การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นไปตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวภายหลังการจัดการประกวดเล่าเรื่องครั้งนี้ว่าการประกวดภาษาไทยมาตรฐานและภาษาถิ่นนั้นถือเป็นงานสำคัญที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ให้ความสำคัญและได้จัดต่อเนื่องมาหลายปี ซึ่งที่นี่ได้จัดแห่งที่ 3 ของปีนี้ จะเห็นได้ว่าการที่นักเรียน เยาวชนของเราให้ความสำคัญกับภาษาษาถิ่น ซึ่งเป็นภาษาแม่และเป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรที่จะภูมิใจ ดีใจ อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าภาษาถิ่นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของอีสานจะไม่หายไปไหน สิ่งเหล่านี้จะยังคงอยู่สืบทอดและพัฒนาสืบสานโดยน้อง ๆ เยาชนทุกแห่งทุกหนที่มีภาษาถิ่น
“หลายเรื่องหลายประเด็นที่น้อง ๆ มาพูด ผมถือว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สัมพันธ์สืบเนื่อง เพราะถ้าเรารู้เพียงแค่ภาษา แต่ไร้รากทางวัฒนธรรมก็เป็นแค่สิ่งที่สื่อสารโดยที่เราไม่รู้ตัวตน การที่เรารู้วัฒนธรรม เรารู้ที่มา เรารู้รากเหง้าและสื่อด้วยภาษาของเรานั้นคือการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของเรา ผมถือว่านี้เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ”
รศ.ดร.ศานติกล่าวยอมรับว่า หลายเรื่องที่น้อง ๆ พูดในวันนี้เชิญชวนให้พวกเราไปเที่ยว ไปเรียนรู้ซับวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่น้อง ๆ อยู่ นี่แค่จากตัวอย่างจาก 10 โรงเรียนที่เข้าประกวดแข่งขันในวันนี้ ยังมีวัฒนธรรมีที่หลากหลาย มีที่มาที่แตกต่าง มีภาษาที่แสดงถึงตัวตน เราทุกคนคือคนไทย มีรากเหง้าที่มาพร้อมกันและเราจะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างงอกงามพร้อม ๆ กันด้วยเพื่อสืบสาน ต่อยอดในเรื่องภาษาถิ่น ภาษาไทย วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของพวกเราคนไทยทุกคน
ด.ช.สุเมธ มุงธิราช จากโรงเรียนคำเตยวิทยา อ.ไทยเจริญจ.ยโสธร พูดเล่าเรื่องมาลัยข้าวตอก เทศกาลงานบุญวันมาฆาบูชาหนึ่งเดียวในโลกอยู่คู่กับจ.ยโสธรมายาวนานไม่แพ้งานบุญบั้งไฟเอาชนะใจกรรมการจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้กล่าวถึงความรู้สึกจากการขเร่วมประกวดแข่งขั้นครั้งนี้ว่ารู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มาถ่ายทอด แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยการเล่าเรื่องมาลัยข้าวตอกใช้เวลาซ้อมประมาณสองอาทิตย์ เนื่องจากเข้าใจในวัฒนธรรมขนบประเพณีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับด.ช.พายุพัฒน์ โคตรหลักคำ จากโรงเรียนน้ำพองพัฒนศึกษารัชมังคลาภิเษก อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ซึ่งมาพูดในหัวข้อออนซอนเดเมืองน้ำพอง สถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมกล่าวรู้สึกดีใจและขอขอบคุณคุณครูและหลายคนที่คอยช่วยเหลือจนได้รับรางวัลในครั้งนี้ โดยปกติในชีวิตประจำวันก็ใช้ภาษาถิ่นอยู่แล้ว จึงอยากให้ทุกคนพูดภาษาถิ่นจะได้ไม่ลืมบ้านเกิดที่เป็นรากเหง้าของตนเอง
นางสาวรัตติกาล สายจันทรา ครูที่ปรึกษาด.ญ.อรัญญา ยนตยศ หนึ่งในนักเรียนที่เข้าประกวดแข่งขันครั้งนี้จากโรงเรียนเขาสวนกวางวิทยานุกูลก อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่นกล่าวว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เพราะว่าเราจะได้รู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่นของหลาย ๆ ที่ อย่างเช่นของภูไท ของศรีสะเกษ ของยโสธร ซึ่งเป็นการเปิดโลกทรรศน์ของคุณครูและเด็ก ๆ ด้วยและเป็นเวทีที่ได้ให้โอกาสแก่เด็ก ๆ สร้างความมั่นใจและได้แสดงความสามารถด้วย
“ที่โรงเรียนเขาสวนกลางวิทยานุกูลโดยปกติเด็ก ๆ ใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารแต่ละวันอยู่แล้ว เพราะโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในชุมชน การที่คุณครูฝึกเด็กเน้นการใช้ภาษาถิ่น เพราะสามารถไปเป็นไกด์ให้กับนักท่องเที่ยวได้ เนื่องจากโรงเรียนเราอยู่ใกล้กับสวนสัตว์เขาสวนกวางก็จะให้เด็กเป็นไกด์ตรงนั้นโดยการใช้ภาษาถิ่นด้วย”ครูคนเดิมกล่าว
สำหรับผลการตัดสินของคณะกรรมการฯในการประกวดแข่งขันภาษาไทยถิ่นภาคอีสานครั้งนี้ รางวัลชนะเลิศได้แก่ เด็กชายสุเมธ มุงธิราช โรงเรียนคำเตยวิทยา จ.ยโสธร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เด็กชายพายุพัฒน์ โคตรหลักคำ โรงเรียนน้ำพองพัฒนศึกษารัชมังคลาภิเษก จ.ขอนแก่น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เด็กหญิงกัญญรัตน์ บุญสุข โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดเจียงอี) จ.ศรีสะเกษ
ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ 1.น.ส.จุมพิตา บุญประกอบ โรงเรียนบริบาลภูมิเขตต์ จ.อุดรธานี 2.น.ส.ชนาภา ชมกิ่ง โรงเรียนสะแกราชวิทยาคม จ.นครราชสีมา 3.ด.ญ.ธันยพร พันแสง โรงเรียนพังเคนพิทยา จ.อุบลราชธานี 4.ด.ญ.ปฏิมากรณ์ หาญอาสา โรงเรียนเมยวดีพิทยาคม จ.ร้อยเอ็ด 5.ด.ญ.สุชาดา โพธิ์งาม โรงเรียนบ้านลอมคอม จ.ขอนแก่น 6.ด.ญ.สุมินตรา พานโคตร โรงเรียนบึงไทรพิทยาคม จ.ขอนแก่นและ7.ด.ญ.อรัญญา ยนตยศ โรงเรียนเขาสวนกวางวิทยานุกูล จ.ขอนแก่น
ทั้งนี้การประกวดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2565 โดยจัดมาแล้วในภาคใต้ ที่จ.สงขลา และภาคเหนือที่จ.เชียงใหม่ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ อยุธยา จ.พระนครีศรีอยุธยา ตามลำดับ โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 ของแต่ละภาค จะเข้ารับรางวัลในงานวันภาษาไทยแห่งชาติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาต่อไป
อย่างไรก็ตามในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งจะถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุ ม.ก.kurplus เชื่อมเครือข่ายทั้ง 4 ภูมิภาคและระบบออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มด้วย