อธิบดีกรมชลรับลูกคิกออฟ”บางระกำโมเดล” มั่นใจบริหารจัดการน้ำต้นทุนช่วยชาวนาเพียงพอ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน
                                                                                    หลังจากดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะได้เดินทางไปมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ให้กับโครงการชลประทานทั่วประเทศ ผ่านระบบ VDO Conference  ณ สำนักงานชลประทานที่ 3 จ.พิษณุโลก เมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 มี.ค.65   โดยระบุว่าต้องการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ วางแผนการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า รัดกุมและประณีต สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมควบคุมแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างเคร่งครัด พร้อมย้ำน้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลนและเพียงพอ ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง 
“จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า”รมว.เกษตรฯกล่าวย้ำ

จากนั้นในช่วงบ่ายดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนเดินทางเป็นประธานในพิธีคิกออฟส่งน้ำเข้านาในพื้นที่บางระกำโมเดล ถือเป็นการเริ่มต้นฤดูการผลิตข้าวใหม่ในปี 2565 ณ บริเวณฝายส่งน้ำบ้านใหม่โพธิ์ทอง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย พร้อมพบปะพี่น้องเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่บางระกำ โมเดลที่มาคอยต้นรับกว่า 300 คน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เผยภายหลังการคิกออฟส่งน้ำเข้าที่นาในพื้นที่บางระกำโมเดล โดยระบุว่า กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการ “บางระกำโมเดล” ต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 6 ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ครอบคลุมอ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ และ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ให้เร็วขึ้นกว่าปกติ 

โดยเกษตรกรสามารถเริ่มเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนของทุกปี เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึง ช่วยลดความเสี่ยงปัญหานาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหาย และยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ชาวนาในทุ่งบางระกำได้เป็นอย่างดี


“ทุ่งบางระกำเป็น 1 ใน 11 ทุ่งที่กรมชลประทานปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมา โดยในปีนี้จะเริ่มส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ให้ทุ่งบางระกำพื้นที่ 2.65 แสนไร่ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 จนเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565 รวมปริมาณน้ำที่จัดสรรประมาณ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ภายหลังที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว จะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขต จ.พิษณุโลก และตัวเมืองสุโขทัย รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขณะเดียวกับได้ร่วมกับกรมประมง จัดหาพันธุ์ปลาน้ำจืดมาปล่อยเข้าทุ่งบางระกำ ช่วยสร้างอาชีพประมงให้เป็นรายได้เสริมกับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย”


อธิบดีกรมชลประทานเผยต่อว่าว่า ตลอดเวลาดำเนินโครงการบางระกำโมเดลตั้งแต่ปี 2560 ได้รับความพึงพอใจและการตอบรับที่ดีจากประชาชนในพื้นที่และเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เนื่องด้วยช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ในขณะเดียวกับช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวด้วย นับว่าโครงการบางระกำตอบโจทย์บรรเทาปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับผู้ใช้น้ำได้ทั้งลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำเจ้าพระยา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำ รวมกันทั้งสิ้น 50,108 ล้าน ลบ.ม. (66% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 26,170 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 15,101 ล้าน ลบ.ม. (68% ของแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 64/65)


“ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,711 ล้าน ลบ.ม. (47% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ 5,015 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,243 ล้าน ลบ.ม. (74% ของแผนฯ) ผลการทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65”อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
ทั้งนี้ประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 7.54 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 117 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 4.40 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 156 ของแผนฯ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร หากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ให้งดการทำนาต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต