“ศิลปากร” ผลิตเครื่องนุ่งห่มจากดิน ยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้โดนใจแฟชั่นนิสต้าสายอีโค่ คว้ารางวัล วช.

มหาวิทยาลัยศิลปากร พัฒนา “ดิน” เป็นนวัตกรรมการใช้ดินสังเคราะห์เมลานิน ในฐานะวัสดุสิ่งทอทดแทนเพื่อสร้างสรรค์เครื่องนุ่งห่มแห่งอนาคต”ผ่านการสังเคราะห์เส้นใยธรรมชาติและเมลานินจากแบคทีเรียชั้นดีให้กลายเป็นวัสดุสิ่งทอทดแทนสำเร็จ รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาปรัชญา ประจำปี 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ดร.ขจรศักต์ นาคปาน อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยความสำเร็จการคิดค้น“นวัตกรรมการใช้ดินสังเคราะห์เมลานิน ในฐานะวัสดุสิ่งทอทดแทนเพื่อสร้างสรรค์เครื่องนุ่งห่มแห่งอนาคต” จัดแสดงผลงานในงานวันนักประดิษฐ์ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา โดยเกิดจากแนวคิดแฟชั่นหมุนเวียน ที่กำลังเป็นที่นิยมที่นำมาใช้ในการวางแผนและออกแบบการผลิตเพื่อลดการเกิดของเสียและมลพิษ การผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุที่ปลอดภัยและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การเพิ่มระยะเวลาใช้งานเสื้อผ้า รวมทั้งการนำเสื้อผ้าเก่ามาผลิตเป็นเสื้อผ้าใหม่ เกิดการหมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างสูงสุดนอกจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมแฟชั่นแล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นผลกระทบในการผลิต เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายในการซื้อเสื้อผ้า และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยให้ความสำคัญต่อความคุ้มค่าในการใช้จ่ายมากขึ้น และต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ ใช้งานได้ยาวนานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นวัตกรรมการใช้ดินสังเคราะห์เมลานิน ในฐานะวัสดุสิ่งทอทดแทนเพื่อสร้างสรรค์เครื่องนุ่งห่มแห่งอนาคต มุ่งเน้นผลลัพธ์แห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากความรู้เชิงวิทยาศาสตร์โดยศึกษาวงจรความสมบูรณ์และการแปรเปลี่ยนคุณสมบัติของ “ดิน” ผ่านกระบวนการทดลองสังเคราะห์เส้นใยธรรมชาติและเมลานินจากแบคทีเรียชั้นดีให้กลายเป็นวัสดุสิ่งทอทดแทนหรือเซลลูโลสชีวภาพอันถือเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการพัฒนาผลลัพธ์ด้วยสุนทรียศาสตร์แห่งการออกแบบให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นยั่งยืนซึ่งมีความเป็นมิตรกับร่างกายสามารถย่อยสลายและกลับคืนสู่ธรรมชาติ

นักวิจัยได้นำไปทดสอบตามมาตรฐานสากลตามระเบียบมาตรฐานการทดสอบเจไอเอส และประเมินคุณภาพตามเกณฑ์การยอมรับของบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ผลปรากฏว่าแข็งแรงและคงทน ความคงทนของสี และมีความปลอดภัยจากสีและสารเคมีอันตราย ส่วนการต่อยอดในอนาคตจะเริ่มออกแบบและผลิตสินค้า ให้ได้มาตรฐานการลดมลพิษด้วยเทคโนโลยีที่สะอาด การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนส่งเสริมให้ภาคธุรกิจลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และจะขอรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ด้วย