เครื่องแรกของไทยเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วย ปราบทัพหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดสิ้นฤทธิ์
กรมวิชาการเกษตร ลุยปราบหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด คิดค้นนวัตกรรมเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วยสำเร็จเป็นเครื่องแรกของไทย ปราบหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดอยู่หมัด ละอองสารแทรกซอนทำลายหนอนกระทู้ครอบคลุมต้นข้าวโพดทุกจุดที่พบระบาด
พ่นได้ทั้งสารเคมีตามคำแนะนำและสารชีวภัณฑ์
ประหยัดเวลาพ่นได้เร็ว 20 ไร่/ชั่วโมง
ลดการใช้น้ำและปริมาณสารต่อไร่ เอกชนเตรียมรับลูกต่อยอดเร่งผลิตเครื่องกระจายสู่เกษตรกร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเป็นแมลงศัตรูพืชต่างถิ่นที่พบเข้ามาระบาดครั้งแรกในไทยเมื่อปลายปี 2561 โดยพบการระบาดในข้าวโพดที่ปลูกฤดูแล้งหลังนา จังหวัด ตาก สุโขทัย พิจิตร อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท และสระบุรี ลักษณะการทำลายของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจะกัดกินอยู่ในยอดข้าวโพด ทำให้ใบขาดเป็นรู เว้าแหว่ง ยอดกุด ซึ่งจากการที่มีการปลูกข้าวโพดอย่างต่อเนื่องประกอบกับสภาพอากาศที่เหมาะสมของประเทศไทยจึงทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงและเป็นพื้นที่กว้าง นอกจากนี้จากพฤติกรรมที่สามารถเข้าทำลายได้ในทุกช่วงการเจริญเติบโตของข้าวโพดและตัวหนอนจะกัดกินอยู่ในยอดข้าวโพด จึงทำให้เกษตรกรพบอุปสรรคในการพ่นสารที่มีประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดการระบาดรุนแรง ซึ่งในบางพื้นที่ทำให้ผลผลิตเสียหายมากกว่า 70% ของพื้นที่
จากปัญหาดังกล่าว สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย ซึ่งเป็นหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมกันศึกษา วิจัย ออกแบบเครื่องพ่นสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้พ่นสารเคมีหรือสารชีวภัณฑ์ให้เป็นละอองฝอย และส่งไปยังเป้าหมายโดนหนอนกระทู้ลายจุดให้มากที่สุด จากการวิจัยและทดสอบทำให้ได้เครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วย ซึ่งช่วยกระจายละอองฝอยของสารที่ออกจากหัวฉีดไปโดนตัวหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่หลบซ่อนอยู่ในกรวยใบ หรือใต้ใบได้โดยตรง โดยอาศัยหลักการของลมที่ช่วยให้เกิดการพลิกของใบข้าวโพด ทำให้สารออกฤทธิ์ทั้งสารเคมีและชีวภัณฑ์ สามารถแทรกซอนบริเวณใต้ใบพืชและในกรวยข้าวโพดได้โดยง่าย ซึ่งการใช้แรงลมช่วยนี้ไม่มีในเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดที่เกษตรกรใช้ในปัจจุบัน จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องแรกที่ผลิตในประเทศไทย โดยเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วยสามารถพ่นได้รวดเร็ว 20 ไร่ / ชั่วโมง และสามารถพ่นได้ตั้งแต่ข้าวโพดอายุ 7 วันจนถึงข้าวโพดติดฝัก
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ เครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วยยังใช้น้ำน้อย และช่วยให้ละอองสารมีความสม่ำเสมอมากกว่าการพ่นจากคานหัวฉีดแบบน้ำมาก รวมทั้งอัตราการพ่นที่น้อยกว่าทำให้สามารถปฏิบัติงานพ่นสารได้รวดเร็วกว่า สามารถลดจำนวนครั้งในการผสมและการเติมสาร เมื่อเทียบในปริมาณน้ำในถังพ่นสารที่เท่ากัน เครื่องพ่นสารแบบใช้ลมช่วย สามารถพ่นได้พื้นที่ที่มากกว่าถึง 2 เท่า ช่วยลดการใช้น้ำในการพ่นสารได้มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และลดปริมาณสารเคมีและชีวภัณฑ์ลงได้ 20 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งจากการทำงานที่รวดเร็วยังมีส่วนช่วยในการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากรถแทรกเตอร์ได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
เครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วยเพื่อกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เป็นการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างตรงจุดเพราะสามารถพ่นป้องกันกำจัดการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้ได้มีการดัดแปลงนำเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วยนำไปใช้กำจัดศัตรูพืชในนาข้าว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และทานตะวันด้วย ซึ่งเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดใช้แรงลมช่วยสามารถพ่นได้ทั้งสารเคมีและสารชีวภัณฑ์ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนได้รับต้นแบบจากกรมวิชาการเกษตร นำไปผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อให้กระจายไปสู่เกษตรกรได้อย่างกว้างขวางแล้ว ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นายยุทธนา เครือหาญชาญพงค์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 089-2124183