กระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดพัฒนาสมุนไพรไทยรองรับตลาดผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติและกรมพัฒนาที่ดิน ว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพร ตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2565 โดยแผนแม่บทได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ในการบรรลุตามเป้าหมาย 4 ยุทธศาสตร์คือ 1. การส่งเสริมผลิตผลสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตรงความต้องการของตลาด 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมและตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล 3. การส่งเสริมการใช้เพื่อการรักษาโรค เสริมสร้างสุขภาพ และ 4. การสร้างความเข็มแข็งด้านการบริหารและนโยบายภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนสมุนไพรอย่างยั่งยืน
กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการขับเคลื่อนด้านวัตถุดิบสมุนไพร ขับเคลื่อนเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ 1 ในประเด็นที่ 1. การส่งเสริมผลิตผลสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตรงความต้องการของตลาด ประกอบกับ แผนการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพสมุนไพรที่มีคุณภาพสู่การผลิตสมุนไพรที่มีมูลค่าสูง (High value added) สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจ BCG เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร กระจายรายได้สู่เกษตรกร โดย 1) ต้นน้ำ ผลิตสมุนไพรปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน GAP หรือเกษตรอินทรีย์ใช้เทคโนโลยีในการผลิต มีการปลูกแปลงใหญ่ สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจ สหกรณ์ 2) กลางน้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่า มีนวัตกรรมต่อยอด มีการลงทุนวิจัย 3) ปลายน้ำ ส่งเสริมตลาดชุมชน ออนไลน์ตลาดกลางสมุนไพร โดยมีการขับเคลื่อนการผลิตสมุนไพร กำหนดพืช Product champion 12 ชนิด ได้แก่ กวาวเครือขาว กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก มะขามป้อม กระชาย พริก ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง หญ้าหวาน ว่านหางจระเข้ ไพล ทั้งนี้ในปี2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรให้เกษตรกร จำนวน 363,353 ราย รวมพื้นที่ปลูกสมุนไพร 1,151,495 ไร่
กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมการผลิตสมุนไพร Product Champion 12 ชนิด ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานกลาง ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมสหกรณ์
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายหน่วยงานระดับกรม ได้แก่ มอบหมายกรมพัฒนาที่ดินจัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) ให้ครอบคลุมชนิดพืช Product Champion ทั้ง 12 ชนิด
กรมวิชาการเกษตรดำเนินการพัฒนาห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน (ISO 17025) เพื่อรองรับการให้บริการการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร
กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมปศุสัตว์ร่วมจัดทำระบบฐานข้อมูลสมุนไพร โดยมีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำระบบฐานข้อมูลสมุนไพร ต่อไป