มั่นใจชาวสวนยางได้เฮราคาพุ่ง! เศรษฐกิจฟื้น-สต็อกยางลดฮวบ
เกษตรกรชาวสวนยางยิ้มออก ราคายางไตรมาสแรกปีนี้พุ่ง กยท. แจงปัจจัยเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเกื้อหนุน ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นแต่ผลผลิตลดลง ในขณะที่สต็อกยางลดฮวบ แถมผลพวงจากโรคใบร่วงระบาด กยท.มั่นใจราคายางตลอดปี 2565 จะเพิ่มอย่างเสถียรภาพ เผยล่าสุดราคาน้ำยางสดแตะ 64 บาท/กก.แล้ว
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์และแนวโน้มราคายางพาราว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ราคายางทุกชนิดมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องล่าสุด ราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นดิบ ราคา 60.60 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นรมควันชั้น3 ราคา 63.77 บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับราคาน้ำยางสดราคาขึ้นไปถึง 64.50 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้เนื่องจากมีหลายปัจจัยเกื้อกุลทำให้แนวโน้มราคายางมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องผลผลิตลดลงกว่าช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านถึง 6.35% เหลือผลผลิตออกสู่ตลาดเพียง 1.19 ล้านตันเท่านั้น เพราะขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีดยางแล้ว ประกอบกับจะต้องเผชิญกับการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ มีสวนยางในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ได้รับผลผลิตกระทบรวมกันประมาณ 1ล้านไร่
นอกจากนี้ประเทศผู้ปลูกยางรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย เวียดนาม ก็ประสบปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่เช่นกัน โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง มีสวนยางพาราได้ผลกระทบมากกว่า 2 ล้านไร่ จึงทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการใช้ยางกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยาง
ผู้ว่าการ กยท.กล่าวต่อว่า ประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลกไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ต่างก็มีค่าดัชนี PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ขยายตัวเหนือระดับ 50 เช่นเดียวกับประเทศจีนที่มีดัชนี้ PMI เพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงระดับ 50 แล้ว ทั้งนี้ดัชนี PMI จะเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต หากมีค่ามากกว่า 50 หมายถึงเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวจากระดับปัจจุบัน
“สต๊อกยางในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคายางเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ อาทิ สต็อกยางเมืองชิงเต่า (Qingdao) ซึ่งเป็นเมืองที่นําเข้ายางมากที่สุดในโลกและเป็นฐานสําคัญในการผลิตล้อยาง จากเดิมที่มี
สต๊อกยางถึง 600,000 ตัน แต่ปัจจุบันเหลือแค่ไม่ถึง 227,000 ตัน เช่นเดียวกับสต๊อกยางตลาดเซี่ยงไฮ้ และสต็อกยางตลาดญี่ปุ่น ก็มีปริมาณลดลง จำเป็นจะต้องจัดซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงในภาคการผลิต ซึ่งจะทำให้ความต้องการยางเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่า การส่งออกยางไทยในปี 2565 จะส่งออกประมาณ 4.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03% โดยไตรมาสแรกจะส่งออกประมาณ 1.11 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.29 %” นายณกรณ์กล่าว
สำหรับแนวโน้มราคายางพาราในปี 2565 ราคาน่าจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ยางมากกว่ากำลังการผลิต คาดว่าผลผลิตยางทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 14,544 ล้านตัน ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ5 ความต้องการใช้ยางจะพุ่งสูงขึ้นถึง 14,822 ล้านตัน ยางจะขาดตลาดแน่นอน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆเกื้อหนุนอีก เช่น ประเทศจีนเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว สวนยางในมณฑลยูนนาน และมณฑลไห่หนานจึงหยุดกรีดยางแล้ว การแพร่ระบาดของ COVID- 19 ทำให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางและชุด PPE มากขึ้น กระแสการลดโลกร้อน ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีนขยายตัว ความต้องการยางล้อสำหรับรถไฟฟ้าจึงเพิ่มขึ้นด้วย การเปิดใช้เส้นทางรถไฟ จีน – ลาว ในอนาคต เป็นโอกาสของการส่งออกยางทางรถไฟ ใช้เวลาจากลาวไปจีน ประมาณ 3 วัน จากเดิมขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังถึงชินเต่าใช้เวลาประมาณ 14-16 วัน เช่นเดียวกัยประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิเช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง สายยางในปริมาณเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
“หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานต่างๆแล้ว ราคายางในปี 2565 น่าจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าอย่างแน่นนอน อย่างไรก็ตามเกษตรกรจะต้องพัฒนาและปรับปรุงการทำสวนยางให้ได้มาตรฐานสากลตามที่ กยท.แนะนำ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตยางแล้ว ยังป้องกันที่ไม่ให้ต่่างชาตินำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าอีกด้วย” ผู้ว่าการกล่าวในตอนท้าย