‘กรณ์’ ถกนโยบาย ‘ทูตเกาหลี’ หารือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานทักษะสูง หวังต่อยอดนโยบาย Soft Power

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้าเข้าพบนายมุน ซึง ฮยอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย พร้อมรับประทานอาหารเกาหลีร่วมกัน โดยนายกรณ์กล่าวว่า ตนสั่งอาหารโดยไม่ต้องดูเมนู เพราะฝังหัวมาจากการดูซีรีส์ต่างๆ มาประมาณ 30 เรื่อง ท่านทูตหัวเราะชอบใจ นายกรณ์ยังกล่าวติดตลกว่า ท่านเพิ่งมาประจำประเทศไทยได้เพียงเดือนเดียว ดังนั้นท่านอาจจะไม่รู้ว่าอาหารประจำชาติของเราตอนนี้มีหมูกระทะติดเป็นอันดับต้นๆ

“เราเริ่มบทสนทนาเชิงนโยบายกัน ท่านบอกว่าท่านได้ยินชื่อผม เพราะท่านทูตอเมริกันเล่าให้ท่านฟังว่าผมไปบรรยายเรื่องการหารายได้เข้าประเทศของเกาหลีด้วย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ในงาน US-Asean วันนี้เลยได้ถกกับตัวแทนประเทศเชิงลีกกันหลายเรื่อง ท่านอยากทราบว่า ท่านควรต้องคุยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีอย่างไรเพื่อให้เขามาลงทุนในไทย เพราะตอนนี้หลายบริษัทหาแนวทางกระจายความเสี่ยงออกจากจีน ซึ่งผมได้แนะนำให้ท่านไปเยี่ยมชมและศึกษาโครงการ EEC” หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า นอกนี้ยังได้พูดคุยกันถึงปัญหาระบบการศึกษาไทยที่มีแรงงานทักษะสูงน้อยไม่ทันต่อการลงทุน รวมไปถึงปัญหาระบบราชการไทยที่คลุมเครือในหลายเรื่องที่นักลงทุนต่างชาติต้องการความชัดเจน และยังถามท่านเรื่องวิวัฒนาการการเกณฑ์ทหารของเกาหลีใต้ ประเด็นนี้น่าสนใจมาก ซึ่งท่านเล่าว่า รัฐบาลเกาหลีปรับเบี้ยเลี้ยงให้ทหารเกณฑ์เพิ่มขึ้น 100 เท่าจากเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน และลดเวลาเกณฑ์ลงจาก 3 ปีเป็น 2 ปี และผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีที่แข่งขันกันอยู่ ณ ปัจจุบันมีข้อเสนอเพิ่มเบี้ยขึ้นอีกประมาณ 5 เท่า (เพื่อจ่ายเป็นเงินก้อนเมื่อครบ 2 ปี ให้ใช้เป็นทุนประเดิมในการเริ่มต้นชีวิตการงาน) ส่วนระหว่างการเป็นทหารเกณฑ์ก็มีการฝึกวิชาชีพมากมายรวมไปถึงการทำ coding และทักษะยุคดิจิทัลอื่นๆ

นายกรณ์ กล่าวว่า ตนได้ถามท่านทูตถึงข้อยกเว้นการเกณฑ์ซึ่งท่านตอบว่า ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะมีข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นบุตรคนเดียวที่มีภาระดูแลพ่อแม่ ประเด็นปัญหาคือตอนนี้เกาหลีมีอัตราเด็กแรกเกิดที่ตํ่าที่สุดในโลก และแทบไม่มีใครมีลูกเกิน 1 คน ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ แทบทุกคนจะได้รับ การยกเว้น และกองทัพเกาหลีจะขาดทหารเกณฑ์ดังนั้น การที่มีการปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยง น่าจะเป็นก้าวหนึ่งในการเตรียมสร้างแรงจูงใจให้กับการอาสาเป็นทหารในอนาคต ซึ่งแนวคิดนี้ตรงกับของผมที่ผมเคยเสนอเป็นนโยบายตั้งแต่ตอนอยู่ประชาธิปัตย์ นั่นคือการเพิ่มเบี้ยตอบแทนพลทหาร เพิ่มมิติการฝึกทักษะ และเปิดโอกาสให้มีเส้นทางการเติบโตในกองทัพ ทั้งหมดนี้จะทำให้มีทหารอาสาโดยสมัครใจเพิ่มขึ้น และลดความจำเป็นในการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะในกรณีเยาวชนคนไทยที่มีภาระดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

“เรื่อง “แรงงานทักษะสูง” กับ ‘เกณฑ์ทหาร’ เหมือนจะเป็นคนละเรื่อง แต่มุมมองทางนโยบายสามารถปรับพัฒนาให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ครับ ผลต่อประชาชนจะทวีคูณ ฝึกวินัย ฝึกความแข็งแรง หากได้ฝึกอาชีพแบบทักษะสูงขึ้นเพื่อรองรับอาชีพใหม่ๆ จะยิ่งมีแรงจูงใจอีกมาก ส่วนเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเกาหลี พลาดไม่ได้เช่นกัน แต่ขออุบไว้เล่าคราวหน้านะครับ” หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว