ส่อง”อารักขาพืชโมเดลBCG”สู่ความยั่งยืนภาคเกษตรไทย
ส.อารักขาพืชไทยผนึกเครือข่ายเกษตรและอาหารปลอดภัย(แก๊บเน็ต)และหน่วยงานพันธมิตร จัดสัมมนาออนไลน์”การอารักขาพืชอย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดลบีซีจี(BCG)” หวังนำองค์ความรู้สู่ความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย
นายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทยกล่าวในรายการ”เกษตรวาไรตี้”ทางสถานีวิทยุม.ก.ถึงงานสัมมนา(ฟรี) ผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ”การอารักขาพืชอย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจแบบบีซีจี(BCG)” ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุมธัญบุรี โรงแรมโนโวเทล ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิตว่าเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรไทยในการผลิตพืชและการอารักขาพืชอย่างไรให้ยั่งยืน โดยงานนี้ได้รับเกียรติจากนายยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ”เศรษฐกิจไทยก้าวไกลด้วยBCG” ด้วย
“อย่าลืมว่าประเทศไทยมีการผลิตทางการเกษตรที่ก้าวหน้าเป็นเกษตรสมัยใหม่และปัจจัยการผลิตก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการเพิ่มผลผลิต มีเมล็ดพันธุ์ที่ดี มีสภาพแวดล้อมสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม เพราะเราอยู่ในภูมิภาคที่เอื้ออำนวยต่ออาชีพการเกษตร เรามีข้อดีมากกมาย มีดินน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การผลิตพืช เห็นได้จากการผลิตและส่งออกพืชอย่างข้าวอันดับ1ของโลกมาเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ยังมีพืชอื่นเช่นผลไม้ อย่างทุเรียน มะม่วงส่งออกไปจีน ญี่ปุ่นและในยุโรปอีกด้วย”นายสมศักดิ์กล่าว
นายกสมาคมอารักขาพืชไทยเผยต่อว่าขณะเดียวกันด้วยประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนชื้น มีสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของโรคและแมลงศัตรูพืช จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการอารักขาพืชด้วยวิธีผสมผสานอย่างถูกต้องเหมาะสมยังมีความจำเป็นหากต้องการได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ที่สำคัญจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นการการอารักขาพืชอย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจแบบบีซีจี(BCG)จึงเป็นการตอบโจทย์ภาคการเกษตรไม่ใช้เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นนโยบายที่ทุกประเทศใช้กันทั่วโลกตามประกาศของสหประชาชาติหรือยูเอ็น
“หลายคนอาจสงสัยกลุ่มอารักขาพืชเป็นกลุ่มของสารเคมีการเกษตรแล้วมันจะมาช่วยการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร จริง ๆ แล้วการอารักขาพืชมันมีหลายรูปแบบ อย่างการส่งเสริมการเกษตรที่ดีที่เหมาะสมหรือจีเอพี(GAP) เป็นการผลิตพืชอย่างปลอดภัย ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าใช้สารเคมีจะต้องใช้อย่างปลอดภัย หรือการส่งเสริมเรื่องไอพีเอ็มคือการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ไม่ได้เน้นย้ำให้ใช้สารเคมี แต่เราจะแนะนำเกษตรกรให้เข้าใจว่าการจัดการศัตรูพืชมีหลากหลายวิธี อาจใช้วิธีเขตกรรม หรือใช้สารสกัดจากพืชจุลินทรีย์และสุดท้ายหากจำเป็นต้องใช้สารเคมี เกษตรกรจะต้องใช้อย่างไรให้มีความปลอดภัยทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย”
นายสมศยังกล่าวถึงการส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการอารักขาพืชสู่เกษตรกรว่าที่ผ่านมาทางสมาคมฯได้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรและอาหารปลอดภัยหรือแก๊บเน็ตลงพื้นที่เป็นวิทยากรฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการอารักขาพืชแก่เกษตรกรในโครงการต่าง ๆ โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตรและภาคเอกชนในการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรผู้ผลิตพืชชนิดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อลดต้นทุน ย่นระยะเวลาการทำงานทดแทนแรงงานคนและช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ซึ่งมีบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมฯกว่า 30 บริษัทที่มีความพร้อมช่วยในการพัฒนาภาคการเกษตรไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป
“อย่างการกำจัดศัตรูพืชก็ไม่ใช่ว่าจะใช้แต่สารสารเคมีอย่างเดียว ก่อนใช้เรามีออฟชั่นอื่น ๆให้เลือกว่าใช้วิธีไหนจะเหมาะสมกับพืชอะไรในแต่ละช่วงเวลา และถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีก็จะต้องใช้อย่างไรให้ปลอดภัยทั้งต่อตัวเองต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมด้วย ตลอดจนการทำเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตรทันสมัยมาใช้ร่วมกันได้อย่างไร เพื่อให้ระบบการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอนนี้เรามีโครงการทำร่วมกับเครืขอ่ายทั้งเรื่องของทุเรียน ข้าว ข้าวโพดและพืชผักสดต่าง ๆ นอกจากนี้เรายังทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมผู้ประกอบธุรกิจค้าขายจำหน่ายอุปกรณ์เคมีภัณฑ์ทางการเกษตรให้มีการจำหน่ายอย่างมีจรรยาบรรณและแนะนำผู้ซื้อนำไปใช้อย่างปลอดภัยจริง ๆ”นายกสมาคมอารักขาพืชไทยกล่าวย้ำ
อย่างไรก็ตามการประชุมสัมมนา การอารักขาพืชอย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจแบบBCG ครั้งนี้ นอกจากมีอดีตรองนารัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงและสหกรณ์นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจแบบบีซีจีของรัฐบาลจะมาบรรยายในหัวข้อเศรษฐกิจไทยก้าวไกลด้วยBCG แล้ว ยังมีวิทยาการรับเชิญ ภัททดา สามัคคี อุปนายกผูส่งออกพืชผักผลไม้ไทยมาให้มุมมองด้านการตลาดต่อการเกษตรปลอดภัย มิสเตอร์ชาราด คุรานา ผู้บริหารบริษัท คอร์เทวา อะกรีซาย(ประเทศไทย)จำกัด พูดถึงธุรกิจอารักขาพืชทำอย่างไรให้ยั่งยืน หรือนักวิชาการจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน รศ.ดร.ทศพล พรพรหม พูดถึงบทบาทมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการอารักขาพืชและเกษตรยั่งยืน และและข้อมูลกฎระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมการอารักขาพืชอย่างยั่งยืนจากดร.อัญชลี นามวงษ์ จากกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายเกษตรและอาหารปลอดภัยหรือแก๊บเน็ตมาร่วมให้ข้อคิดข้อแนะนำในงานสัมมนาครั้งนี้ด้วย
สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook เคหการเกษตร และ Youtube ช่อง Kehakaset
Facebook : https://www.facebook.com/kehakaset
Youtube : Kehakaset Magazine วารสารเคหการเกษตร