สธ เผยผลวิจัย นโยบายกัญชา 6 ต้น สร้างกำไรให้ชุมชน ตั้งแต่รอบแรก เร่งสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลูกกัญชารายย่อย ต่อยอดเศรษฐกิจชุมชน

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 สถาบันกัญชาทางการแพทย์ได้จัดให้มีประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ครั้งที่ 5 โดยเชิญนักวิจัย ภก.ชัยสิทธิ์ สุนทรา เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี ที่ทำวิจัยในเรื่อง “การถอดบทเรียนการปลูกกัญชาทางการแพทย์ของวิสาหกิจชุมชน กรณีศึกษาบ้านโนนมาลัย” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อใช้ในครัวเรือน สร้างรายได้ให้ครัวเรือน และสร้างรายได้ในชุมชน ผลงานวิจัยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรบริหารจัดการผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพร สภาเภสัชกรรมโดยผลการศึกษาพบว่าการปลูกกัญชา 6 ต้น นั้นสามารถสร้างผลกำไร ให้แก่เกษตรกรได้ตั้งแต่รอบแรกของการปลูก โดยมีในช่วงระยะเวลา 8เดือน พบว่าในภาพรวมชุมชน 7 แปลงปลูก มีต้นทุนคงที่ 80,201 บาท ต้นทุนผันแปร 37,931 บาท รวมต้นทุนทั้งหมด 118,132 บาท และสามารถสร้างรายได้สุทธิ 148,286 บาท


ในการศึกษานี้ นอกจากจะได้ความคุ้มค่าของโครงการแล้ว ยังได้องค์ความรู้เรื่องการปลูก ตั้งแต่ ดิน ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว และการนำไปใช้ประโยชน์ ที่สามารถถ่ายทอดต่อให้เกษตรกรกลุ่มอื่นได้ นอกจากนั้นยังพบ 3 ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จ คือ นโยบายที่ชัดเจน ระบบนิเวศวิทยา หรือ ecosystem ที่เหมาะสม และความเข้มแข็งของเกษตรกร ที่ภาครัฐต้องเสริมความเข้มแข็ง ในตอนท้ายของการประชุมนักวิจัยยังได้เสนอมาตรการ 5 ข้อ ในการปรับปรุงให้โครงการกัญชา 6 ต้นของวิสาหกิจชุมชน สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้แก่ การเปิดตลาดสินค้าชุมชน การลดขั้นตอนการอนุญาตและกำกับดูแล การสร้างเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนการปลูกและแปรรูปกัญชาในทุกระดับ การพัฒนาระบบพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกร การสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกกัญชาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างอำนาจในการต่อรอง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระดับครัวเรือน ระดับชุมชน