สธ เร่งเดินหน้าวิจัย สนับสนุนเอกชน เพื่อการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชา กัญชง

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 โดยมี ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหาร และหน่วยงานภายในและภายนอกที่ทำงานด้านกัญชาและกัญชง ในการประชุมวันนี้มีประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนกัญชา กัญชง

ภก.ดร.อนันต์ชัย กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้มีการประชุมหลายประเด็น แต่หลักๆ เป็นเรื่องการนำเสนอผลงานการขับเคลื่อนนโยบายกัญชา กัญชง ซึ่งก็ก้าวหน้ามาก แต่ที่เห็นเด่นชัดคือ ทุกเขตสุขภาพ พยายามพัฒนางานวิจัย วิชาการเพื่อมาสนับสนุนการใช้ ซึ่งตรงนี้ก็ได้มอบหมายให้สถาบันกัญชาทางการแพทย์เชิญเขตสุขภาพทั้ง 12 แห่ง และกรมวิชาการ ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสุขภาพจิต เข้าร่วมหารือแนวทางในการพัฒนาหลักฐานทางวิชาการร่วมกัน โดยจะมีการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะเป้าหมายของภาครัฐ คือ การสนับสนุนให้มียาและผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชงขึ้นทะเบียนจำหน่ายได้ทั่วไป ซึ่งการทำเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องมีงานวิจัยสนับสนุน และเราก็ทำกันอย่างกว้างขวางในกระทรวงสาธารณสุข รอเพียงการรวบรวม และประเมินผลอย่างเป็นระบบเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยเรื่องเป้าหมายที่เห็นตรงกันในส่วนของการบริการ คือ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยประคับประคอง ก็มีระบบการสนับสนุนข้อมูลด้วยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการและยา (อย.)”

“ประเด็นสำคัญอีกสองเรื่องของวันนี้ คือ การเตรียมระบบรองรับการปลดกัญชาออกจากรายการยาเสพติด ถึงแม้จะยังไม่มีความแน่นอนในประเด็นนี้มากนัก แต่เราก็ต้องเตรียมการเพราะเป็นความต้องการของภาคประชาชน วันนี้ได้รับทราบระบบจากกองผลิตภัณฑ์สมุนไพรว่ามีการวางแผนไว้ได้ดี โดยจะมีสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นรายการที่ อย. กำหนด ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อย รู้ข้อกำหนดและเข้าสู่ระบบการอนุมัติผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้เร็ว และส่วนที่เปิดให้ผู้ประกอบการนำหลักฐานด้านคุณภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัยมายื่นเพื่อขอรับการอนุมัติในข้อบ่งใช้ที่ต้องการ ก็จะเป็นการเปิดให้ตลาดมีผลิตภัณฑ์ที่กว้างขวางมากขึ้น และสุดท้ายเราได้พูดคุยเรื่องการจัดการประชุมวิชาการระดับภาค ใน 5 ภาค เพื่อเป็นการสื่อสารสองทาง ทั้งการสื่อกลับมาที่ส่วนกลางว่าพื้นที่ทำอะไร และอะไรที่ดี และสื่อสารจากส่วนกลางไปพื้นที่ว่ามีเป้าหมายอย่างไร ซึ่งคาดว่างานประชุมวิชาการ 5 ภาคที่จะเกิดขึ้นในช่วง กุมภาพันธ์-เมษายน 2565 จะทำให้เราได้องค์ความรู้วิชาการมาสนับสนุนแนวทางในการประกอบธุรกิจให้ผู้ประกอบการได้ต่อไป”ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าว