“สุวัจน์”ชวนคนไทยร่วมใจฝ่าวิกฤติโควิด-19 ชูไทยเที่ยวไทยลดการว่างงานช่วยภาคบริการฟื้นท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ 1 ธ.ค.64

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ตุลาคม 2564 ณ ห้องประชุมนนทรี สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.พหลโยธิน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นิสิตเก่า มก.รุ่นที่ 33 อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษากองทุนนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างร่วมแถลงข่าวรับบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนในโครงการ “เกษตรศาสตร์รวมใจ พาพ้นภัยโควิด-19”
นายสุวัจน์ กล่าวว่าโควิด-19 เป็นปัญหาใหญ่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ เปลี่ยนทั้งแฟลตฟอร์มการทำธุรกิจ แฟลตฟอร์มในการดำรงชีวิต แฟลตฟอร์มด้านการศึกษา เปลี่ยนหมดเลย ก่อนเกิดโควิดเรามักจะพูดกันตอนนั้นว่าถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทรกแซงหรือถูกดิสดรับชั่นจากเทคโนโลยีไร้พรมแดน ทำให้ต้องหาทางปรับตัวตัวในทุกธุรกิจ
“ตอนนั้นเราพูดถึงเทคโนโลยี เราพูดกันว่าเราอยู่ในยุคปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่4 แต่ปรากฏว่าตอนนี้ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่4 แทบจะชิดซ้ายไปเลยเพราะโควิด โควิดถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่5 คือเปลี่ยนใหม่หมด ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ทุกคนได้รับผลกระทบหมดโดยเท่าเทียมกัน”

นายสุวัจน์ยอมรับว่าโควิด-19 มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรงในทุกประเทศทั่วโลก โดยเห็นได้จากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจจีดีพี(GDP) อย่างประเทศไทย ก่อนโควิดมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 3-5 เปอเซนต์ แต่หลังเกิดโควิดจีดีพี(GDP)ติดลบ เริ่มจากบวกขึ้นมาหน่อย แต่มาเจอระลอก3 ช่วงสงกรานต์ทีผ่านมา กลับซ้ำเติมลงไปอีก ซึ่งผลกระทบจากโควิดมีผลต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการว่างงาน
โดยประเทศไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว ประชาชนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มีรายได้หลักจากภาคบริการ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพอยู่ในภาคบริการ ส่วนภาคอุตสาหกรรมจะได้วอลลุ่ม ได้มูลค่า แต่จะเกี่ยวข้องกับคนน้อย

“วันนี้นักท่องเที่ยว 40 ล้านคนหายไป ฉะนั้นคนไทยต้องช่วยกัน ไทยเที่ยวไทย นักลงทุนต่างประเทศหายไป คนไทยก็ต้องลงทุนในเมืองไทยหรือใครพอมีฐานะต้องออกมากิน ออกมาซื้อ ออกมาเที่ยวเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้หรือนักธุรกิจบางคนขาดทุนแต่ไม่ยอมปิดกิจการเพื่อจะเลี้ยงลูกน้อง เรามีใจให้กันช่วยเหลือกัน ผมว่าเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น เราก็จะผ่านพ้นวิกฤติไปได้”
ประธานที่ปรึกษากองทุนนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังกล่าวถึงการทีส.มก. เข้ามาช่วยในเรื่องโควิด-19 เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เนื่องจากโรคนี้ยังอยู่กับเราไปอีกนาน โดยส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ในขณะนี้เริ่มดีขึ้น ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเริ่มน้อยลง แต่เราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้เสมือนเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของเรา
“เปรียบเทียบกับสถานการณ์เจ็บป่วยเดิมเราอาจเป็นอัมพฤก อัมพาต อยู่ในห้องไอซียู แต่ตอนนี้เราจะเริ่มย้ายมารักษาอยู่ในห้องปกติกำลังจะเริ่มกลับบ้านแล้ว อารมณ์ก็จะประมาณนี้นะ เพราะว่าตอนเริ่มต้นเราอาจสตาร์ทช้าไปนิดนึงเรื่องการฉีดวัคซีน”
ขณะที่ ดร.จงรัก วัชรินทรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยในการแก้ปัญหาโควิด-19 ว่าที่ผ่านมามีทั้งการลดค่าเทอม การบริการจัดฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยอยากทำมากที่สุดคือ การสร้างอาชีพให้กับประชาชนในทุกมิติ ตั้งแต่การสอนคนสร้างคน รวมถึงการสร้างแหล่งนัดพบผู้ซื้อผู้ขายภายในมหาวิทยาลัยหรือ University of Marketplace) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่เพื่อให้เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าคุณภาพ เหมือนงานเกษตรแฟร์ย่อย ๆ แต่จัดตลอดทั้งปีผ่านทางออนไลน์และออฟไลน์
“ปัญหาสำคัญตอนนี้คือเรื่องการตลาด การผลิตยังไม่ยากเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ในโลเคชั่นที่ดีก็เลยคิดว่าจะใช้มหาวิทยาลัยลุยมาร์เก็ตเพลสเป็น University of Marketplace ใช้สถานที่ใกล้ประตูวิภาวดี ซึ่งทำได้ทันที ไม่ต้องรอ เพราะมีอาคารเดิมอยู่แล้วไม่ต้องสร้างใหม่เพียงแค่ย้ายกองยานออกไป จากนี้ไปมหาวิทยาลัยก็จะเปลี่ยนบทบาทจากการสอนคนมาดูเรื่องการรับรองคุณภาพสินค้าเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยสู่ระดับโลก”
ด้านนางโสภาวรรณ มงคลธรรมากุล นายกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ส.มก. ต้องการรวมพลังศิษย์เก่า เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรศาสตร์และประชาชน เพื่อบรรเทาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และเป็นศูนย์กลางการประสานงานเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งของเครื่องใช้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19
ทั้งนี้นายสุวัจน์ ยังได้บริจาคสมทบทุนสมาคมฯ เป็นเงิน 1 แสนบาท พร้อมกันนี้มีศิษย์เก่า ร่วมบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สมาคมฯ นำไปช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือนร้อนต่อไป