ชาวสวนเมืองคอนวอนรัฐเร่งแก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ ขณะชสท.ผนึกสหกรณ์แท็กซี่ช่วยระบายผลผลิตสู่ผู้บริโภคในเขตกรุเทพและปริมณฑล

ชาวสวนเมืองคอนวอนรัฐเร่งแก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ แนะรวมกลุ่มแปรรูปตัดปัญหาล้งกดราคา ซัดไปรษณีย์ไทยหยุดให้บริการทำผู้ค้าออนไลน์ไร้ทางออก ขณะชสท.ผนึกสหกรณ์แท็กซี่ช่วยระบายผลผลิตสู่ผู้บริโภคในเขตกรุเทพและปริมณฑล

นายพรชัย โชติวรรณ เจ้าของสวนมังคุดไข่นุ้ย อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราชกล่าวในรายการ”เกษตรวาไรตี้”ทางสถานีวิทยุม.ก.กรณีปัญหาราคามังคุดตกต่ำในพื้นที่จ.นครศรีฯขณะนี้ว่านครศรีฯ มี 23 อำเภอเราผลิตมังคุดได้ 20 อำเภอ มีอยู่ 3 อำเภอเท่านั้นที่ไม่มีต้นมังคุด จากการประมูลราคามังคุดแปลงใหญ่ในอ.ลานสกา เมื่อวันที่ 30 ก.ค.64 ที่ผ่านมามังคุดไซส์ใหญ่สุดเกรดเอ ราคาอยู่ที่ 20.88 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจาก 32 บาทเมื่อ 3 วันก่อน  ล่าสุดเมื่อวานนี้(1 ส.ค.)ลงมาอยู่ที่ 20 บาทสรุปว่าราคาก็ยังไม่ดีขึ้น

“มังคุดไซส์ใหญ่ที่คัดได้ราคาอย่างนี้มีไม่เกิน 20% ที่เหลือเป็นไซส์กลางเล็กลงไปราคาอยู่ที่ 5-10 บาทต่อกิโลเท่านั้น เป็นมังคุดคละตกไซส์ ซึ่งราคาถูกมากแล้วยังมีปัญหากับล้ง พ่อค้าคนกลางกดราคาอีก ทำให้ขายไม่ได้ราคาตามที่ควรจะเป็น”

นายพรชัย กล่าวต่อว่าขณะมังคุดไซส์ใหญ่เกรดเอขายทางออนไลน์จะได้ราคาเฉลี่ยสูงถึง 80-100 บาทต่อกิโลกรัม รวมค่าขนส่งเบ็ดเสร็จถึงปลายทาง  แต่เกษตรกรที่มีความสามารถขายผ่านช่องทางนี้ก็มีเพียง 5% เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ก็ต้องพึ่งล้มและพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ค่าแรงเก็บผลผลิตมังคุดขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานในพื้นที่

“ราคาที่ชาวสวนอยู่ได้ต้องไม่ต่ำกว่า 20 บาท ไม่รวมค่าแรงนะครับ แต่วันนี้ราคามังคุดคละ อยู่ที่ 4-5 บาท ขณะที่ค่าแรง 10 บาท รวมค่าขนส่ง 18-20 บาทต่อกิโล ถ้าเป็นแบบนี้ชาวสวนไม่ได้อะไรเลย ยอมให้ร่วงปล่อยทิ้งดีกว่าขายไปก็ไม่คุ้ม”เจ้าของสวนมังคุดไข่นุ้ยยอมรับในชะตากรรม

 เขาระบุอีกว่าแม้การค้าขายทางออนไลน์กำลังไปได้ดี แต่ขณะนี้กลับมีปัญหาระบบการขนส่ง ไปรษณีย์ไม่รับอ้างเหตุว่าปลายทางมีปัญหาโควิด-19 และส่วนหนึ่งเป็นเพรามังคุดมักได้รับความเสียหายเมื่อส่งถึงปลายทาง จึงขอยุติการขนส่งชั่วคราว ทำให้เกิดปัญหาต้องพึ่งพาใช้บริการของบริษัทเอกชน นอกจากค่าขนส่งที่แพงกว่าปกติแล้วยังมีการต่อคิวแบ่งโควต้ากันอีกด้วย

“ค้าทางออนไลน์ตอนนี้ก็ต้องไปรอคิว แต่ละรายส่งได้แค่ 30-50 กล่องแทบจะแบ่งโควต้ากัน เพราะว่าคิวยาวเหลือเกิน นี่คือปัญหาการขนส่งทางไลน์ เขารังเกียจชาวสวนอย่างพวกเรา”เกษตรกรรายเดิมกล่าวและย้ำว่า

ทางออกของปัญหาชาวสวนต้องหันมาช่วยตัวเองที่ดีที่สุด   โดยการรวมกลุ่มแปรรูปมังคุดกวนจากวัตถุดิบมังคุดตกเกรดหรือมังคุดคละเพื่อเพิ่มมูลค่าและสามารถขายได้ตลอดทั้งปี

“ถ้าไปขายล้งตอนนี้อยู่ที่ 5 บาท แต่ทางกลุ่มเรารับซื้อกิโล 20 บาททำมังคุดกวน ตอนนี้ราคามังคุดกวนอยู่ที่กิโลละ 550 บาท และยังสามารถเก็บไว้ขายได้ทั้งปี  อีกช่องทางหนึ่งอยากให้สถานบันศึกษาเข้ามาช่วยชาวสวนในเรื่องตลาดออนไลน์ด้วย”

 เจ้าของสวนมังคุดไข่นุ้ยยังเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลในเรื่องบรรจุภัณฑ์ให้เป็นลักษณะเฉพาะของผลไม้ชนิดนั้น ไม่ใช่ใช้กล่องเดียวใส่ผลไม่ได้ทุกชนิด  โดยเฉพาะมังคุด

”กล่องที่ใส่มังคุดต้องเป็นกล่องเฉพาะ อย่างตอนนี้ใช้รวมกันใช้กล่องใส่ส้มโอ ซึ่งมีเปลือกหนาไม่มีปัญหาในการขนส่ง แต่มังคุดใส่แล้วจะมีปัญหาปลายทางทันที ฉะนั้นต้องสร้างอัตลักษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคมากกว่านี้  มังคุดต้นทางมีสภาพนางฟ้า พอไปถึงปลายทาง 4-5 วันเละเลยเกิดความเสียหายต้องเคลมกันใหม่ ถ้าพัฒนากล่องใส่เฉพาะมังคุดได้ก็จะดีมาก”นายพรชัยกล่าวย้ำ

 อย่างไรก็ตามล่าสุดนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อม นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามและตรวจเยี่ยมการแก้ไขปัญหาราคามังคุดตกต่ำ โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการแก่ศูนย์กระจายในจังหวัดแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท 

 โดยกรมการค้าภายใน ได้โอนเงินให้แต่ละจังหวัดในวงเงิน 50,850,000 บาท เพื่อกระจายมังคุด จำนวน 16,950 ตัน รวมทั้งมีการสนับสนุนค่าขนส่งและร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย สนับสนุนกล่องไปรษณีย์และสติ๊กเกอร์ส่งฟรีผลไม้ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการขายผ่านระบบออนไลน์แก่เกษตรกรรายย่อย จำนวน 200,000 กล่องเพื่อช่วยเร่งระบายมังคุดเกรดรองหรือมังคุดตกเกรด ออกจากแหล่งผลิตโดยเร่งด่วน 

ด้านนายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแหล่งประเทศไทยหรือชสท.กล่าวผ่านรายการถึงการกระจายผลไม้จากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภคว่าในขณะนี้ทางชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย(ชสท.)ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มสหกรณ์รถแท็กซี่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯได้ดำเนินการจัดส่งผลผลิตผลไม้ โดยเฉพาะมังคุดและเงาะจากแหล่งผลิตในพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมส่งตรงมายังสำนักงานชุมนุมสหกรณ์ฯ ถ.งามวงศ์วาน ลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯเกือบทุกวันก่อนกระจายไปยังผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล  

“ขณะนี้เราพยามยามที่จะเชื่อมโยงจากสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ไปยังผู้บริโภคโดยตรง ปกติของดี ๆ คนไทยไม่มีโอกาสทานเลยส่งออกต่างประเทศหมด สัปดาห์หน้ามังคุดจากนครศรีฯพังงา จะทยอยเข้ามา สนใจสั่งจองมาได้เลยเราจะส่งตรงให้ถึงหน้าบ้านท่านในทันที”

ประธานกรรมการชสท.กล่าวถึงการจัดส่งผลไม้สู่ผู้บริโภคขณะนี้ว่ามีอยู่ 3 วิธี โดยวิธีแรก ชสท.ร่วมกับกลุ่มสหกรณ์รถแท็กซี่ในการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค เนื่องจากช่วงนี้กลุ่มผู้ขับแท็กซี่เดือดร้อนไม่มีผู้โดยสารจากสถานการณ์โควิด-19 จึงมาช่วยในการกระจายสินค้าผลไม้ไปยังผู้บริโภคและจะขยายกิจกรรมนี้ต่อไป เพราะราคาจัดส่งถูกกว่าภาคเอกชนและช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ขับรถแท็กซี่ด้วย

ส่วนวิธีที่สอง ชสท.ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดส่งผลไม้ให้กับหน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทเอกชนหรือผู้สนใจในจำนวนปริมาณที่มากพอ ขนส่งโดยรถของชุมนุมสหกรณ์ฯและกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ สั่งตั้งแต่ 20 ตะกร้าขึ้นไปส่งฟรี และวิธีที่สามผู้บริโภคเดินเข้ามารับสินค้าเอง ณ สำนักงานชุมนุมสหกรณ์ฯ ถ.วงศ์วงวาน(ตรงข้ามม.เกษตรฯ)ได้ทุกวันทำการ

 โดยทุกระบบจะต้องสั่งจองล่วงหน้าผ่านทางไลน์ Application Line , เฟสบุ๊ค ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัดและผ่านเพจ co-opclick หรือโทรศัพท์ 08-823-3639 ได้ทุกวันทำการ

“ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมบริโภคผลไม้ไทยกัน  นอกจากอิ่มอร่อยด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้วยังช่วยเกษตรกรชาวสวนผลไม้ด้วยครับ”ประธานกรรมการชสท.กล่าวเชิญชวนทิ้งท้าย