สทนช.จับมือ สสส.-มูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ แจงแผนจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงท่วม-แล้ง ขยายผลสู่ภาคประชาชน
สทนช.ร่วมถกแผนการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงและการคาดการณ์เกิดภัยแล้ง น้ำท่วม ลดความเสี่ยงภัยพิบัติร่วมกับ สสส.และมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมบรรยายหัวข้อ “การบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงและการคาดการณ์เกิดภัยแล้ง น้ำท่วม” ในการเสวนาเรื่อง “ภัยพิบัติซ้ำซ้อน (Compound Hazard) : ความเสี่ยงภัยใกล้ตัว” ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต บรรยายในหัวข้อ สถานการณ์ภัยพิบัติในระดับโลก เอเชีย-แปซิฟิก และบทเรียนการจัดการที่ผ่านมา การประเมินความเสี่ยงภัยพิบัติและการเตรียมพร้อมของหน่วยงาน วิชาการ และภาคประชาชน โดย ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการรับมือความเสี่ยงภัยด้วยกลไกบูรณาการระดับพื้นที่ : ตัวอย่างการลดทอนความเสี่ยงภัย จังหวัดน่าน/อุบลราชธานี/พื้นที่ภาคใต้ โดย ตัวแทนภาคีเครือข่ายภัยพิบัติ จากจังหวัดน่าน อุบลราชธานี พังงา และตรัง
นายสำเริง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนบริหารจัดการทั้งภาวะเสี่ยงน้ำแล้งและน้ำท่วม โดยบูรณาการทุกหน่วยงานด้านน้ำกว่า 40 หน่วยงาน ซึ่งปัจจุบันสภาพอากาศมีความเปลี่ยนแปลงสูง วิกฤติด้านน้ำที่ส่งผลกระทบกับประชาชนก็มีมากขึ้นและถี่ขึ้น รัฐบาลจึงได้ตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช.ขึ้น เมื่อต้นปี 2563 เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เป็นเอกภาพภายใต้ฐานข้อมูลเดียวกันมากขึ้น โดยมี สทนช.เป็นหน่วยงานกลางบูรณาการร่วมกันวิคราะห์ คาดการณ์ ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งฤดุฝนปีนี้ กอนช.ได้ร่วมกันดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน อาทิ การติดตามสภาพอากาศ เพื่อประเมินสถานการณ์ฝนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ต่างๆ ทั้งอุทกภัยและเสี่ยงขาดแคลนน้ำ การบริหารจัดการน้ำเพื่อเก็บกักน้ำเป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้งหน้า ซึ่งก็ถือว่าปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะในเขื่อนใหญ่ยังมีไม่มากนัก ขณะเดียวกัน ยังติดตามปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำทั่วประเทศต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าหลังสิ้นฤดูฝน ณ 1 พ.ย.64 จะมีน้ำต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 26,037 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ 1 พ.ย.63 มีน้ำต้นทุน 26,551 ล้าน ลบ.ม. จะเห็นได้ว่าตัวเลขไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักทั้งที่ปริมาณฝนปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปีนี้มีปริมาณการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็มาจากปัจจัยทั้งการทำการเกษตรที่เพิ่มขึ้นจากแรงงานกลับคืนถิ่นในสถานการณ์โควิด
สำหรับการประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำ กอนช.ได้มีการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงล่วงหน้า เพื่อให้ทุกหน่วยงานกำหนดแผนปฏิบัติรับมือ เตรียมพร้อมกำลังคน เครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงการแจ้งเตือนภาคประชาชนก่อนเกิดผลกระทบ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่ท่วมแล้งซ้ำซาก สำหรับพื้นที่คาดว่าจะเสี่ยงท่วมในช่วงเดือน ส.ค. – พ.ย.64 มีทั้งสิ้น 2,290 ตำบล 557 อำเภอ ใน 69 จังหวัด ขณะที่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำมีทั้งสิ้น 1,497 ตำบล 291 อำเภอ 34 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ระยะต่อไปปริมาณฝนในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. จะอยู่บริเวณภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และตะวันตก จากนั้นจะไล่ลงมาบริเวณภาคกลางในเดือน ก.ย. – ต.ค. และเริ่มลงสู่ทางภาคใต้มากขึ้นในเดือน พ.ย.- ธ.ค. ซึ่งในปีนี้ก็ต้องจับตาเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยทางภาคใต้เป็นพิเศษ เนื่องจากการคาดการณ์ของปรากฏการณ์ลานีญาช่วงปลายปีที่ก็ต้องเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด รวมถึงพายุที่ในปีนี้ยังคาดว่าจะอยู่ที่ 1-2 ลูกด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีทั้งส่งผลดีต่อปริมาณน้ำที่จะเก็บกักในเขื่อนต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น แต่หากตกพื้นที่ท้ายอ่างฯ ก็อาจจะส่งผลต่อสถานการณ์น้ำหลากได้เช่นกัน.