อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มก. ขอคนไทยภูมิใจและใช้ภาษาของเราให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย
เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ รองศาสตราจารย์ ดร.วิไลศักดิ์ กิ่งคำ ประธานหลักสูตรปริญญาเอกภาษาไทย อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภาษาไทย ภาษาประจำชาติ ไว้ ดังนี้
ประเทศไทยเป็นประเทศที่เจริญด้วยความงอกงามทางด้านภาษาและวัฒนธรรมมายาวนาน จะเห็นได้จากเรามีอักษรไทยเป็นของเราเอง และสำคัญที่สุดอีกอย่างเรามีตัวเลขเป็นของเราเอง ภาษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดวัฒนธรรมจะเห็นได้จากการแสดงศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งเราได้อาศัยภาษาเป็นส่วนประกอบในการแสดงออก เช่น การเซิ้งกระติ๊บข้าวใช้ภาษาถิ่นอีสานประกอบการแสดง การรำโนรา ใช้ภาษาถิ่นใต้ประกอบการแสดง และการฟ้อนเล็บใช้ภาษาถิ่นเหนือประกอบการแสดง จึงทำให้การแสดงนั้น ๆ มีความงดงาม ประเทศไทยมีอักษรไทยเป็นของตัวเองทั้ง ๔๔ ตัว มีสระจำนวน ๓๒ รูป และมีเสียงวรรณยุกต์ ๕ หน่วยเสียง มี ๔ รูป ได้แก่รูปไม้เอก รูปไม้โท รูปไม้ตรี และรูปไม้จัตวา นอกจากนี้ยังมีตัวเลขเป็นของไทยเราเอง ได้แก่ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ และ ๐ ซึ่งหลายประเทศไม่มีตัวเลขเป็นของตัวเอง สมบัติเหล่านี้ที่ประเทศเรามีด้วยพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยมีพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นต้น
ภาษาไทยเป็นภาษาตระกูลคำโดด คือคำแต่ละคำสำเร็จรูปไม่ต้องไปประกอบคำเหมือนภาษาบาลีและสันสกฤต ภาษาไทยมีการพัฒนาโดยการรับคำมาจากภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาบาลีสันสกฤต เขมร อังกฤษ เป็นต้น ตัวอย่าง โอวาท ปรารถนา เหิร เทอม จึงทำให้ภาษาไทยมีคำศัพท์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา ที่มีคำภาษาบาลีสันสกฤตเป็นจำนวนมาก
ภาษาไทยได้รับการปรับแก้ไขให้คำมีความหมายถูกต้องสมบูรณ์และเป็นปัจจุบันตลอดเวลา จะเห็นได้จากเรามีพจนานุกรมฉบับปี พ.ศ. ๒๔๙๓, ๒๕๒๕, ๒๕๔๒ และ ๒๕๕๔ ในปัจจุบันคณะกรรมการชำระพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีนายกราชบัณฑิตยสภาเป็นประธาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.วิไลศักดิ์ กิ่งคำ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการดำเนินการในชุดดังกล่าวนี้ด้วย ปัจจุบันได้ปรับแก้คำศัพท์ถึงอักษร ม (ม.ม้า) โดยในการปรับแก้ มีการชำระให้ความหมายของคำตามความเป็นจริงพร้อมให้ตัวอย่างประกอบการใช้คำ มีการเพิ่มคำใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“ ภาษาไทยมีความสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความเจริญงอกงามทางอารยธรรมของประเทศไทยที่มีภาษาไทยเป็นสมบัติของเราทุกคน ขอให้พวกเราจงภูมิใจและใช้ภาษาของเราให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย ” รองศาสตราจารย์ ดร. วิไลศักดิ์ กล่าว
ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ รายงาน