6 ฐานเรียนรู้ ที่ธนาคารอาหารชุมชน “เกษตรวิชญา” สืบสานพัฒนาตามพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อสุขแห่งพสกนิกร
ภายในพื้นที่ 123 ไร่ ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “เกษตรวิชญา” บ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ คือ พื้นที่ดำเนินการภายใต้โครงการ ธนาคารอาหารชุมชน ที่มีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 ถือเป็นอีกหนึ่งการทำงานเพื่อสนองพระราชดำริแห่งการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วันนี้ได้ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงรักและห่วงใยในความเป็นอยู่ของพสกนิกร รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์บริเวณบ้านกองแหะ จำนวน 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดทำเป็นศูนย์ฝึกอบรม และวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติ และมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณฯ พระราชทานชื่อศูนย์แห่งนี้ว่า “เกษตรวิชญา” ที่แปลว่า ปราชญ์แห่งการเกษตร
“จากที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีประราชปณิธานที่มุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส.ป.ก.จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริต่าง ๆ มาใช้เป็นหลักในการดำเนินงานและถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ไปสู่ผู้สนใจทั้งเกษตรกรในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินและประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ ด้วยการพัฒนาพื้นที่ของธนาคารอาหารชุมชน ให้เป็นฐานการเรียนรู้ทั้งเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างแหล่งอาหาร จำนวน 6 ฐานเรียนรู้” ดร.วิณะโรจน์ กล่าว
สำหรับฐานเรียนรู้ทั้ง 6 ฐานภายในธนาคารอาหารชุมชน ที่มีระยะทางกว่า 1.5 กิโลเมตรนั้น ประกอบด้วย
ฐานการเรียนรู้ที่ 1 “รักษ์ไม้พื้นบ้าน สืบสานพระราชปณิธาน” โดยดร.วิณะโรจน์ กล่าวว่า ด้วยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้คุณค่าจากการได้ใช้ประโยชน์จากป่าที่ปลูกอย่างยั่งยืน ฐานการเรียนรู้นี้ เป็นฐานที่รวบรวมพันธุ์ไม้ 3 อย่างในพื้นที่ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานพันธุ์ไม้พื้นถิ่น โดยการรวบรวมชื่อพันธุ์ไม้ในพื้นที่ลักษณะไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
“ทั้งนี้ ด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแนะนำการปลูกป่าเชิงผสมผสานด้านเกษตรวนศาสตร์ และเศรษฐกิจสังคม ซึ่งเป็นวิธีปลูกป่าแบบเบ็ดเสร็จ การปลูกไม้ 3 อย่าง ได้แก่ 1) ไม้ใช้สอยและไม้เศรษฐกิจ 2) ไม้อาหารหรือไม้กินได้ 3) ไม้ฟืนเชื้อเพลิง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ 1) ไม้เศรษฐกิจปลูกไว้สร้างที่อยู่อาศัย ใช้สอยโดยตรงและจำหน่าย 2) ปลูกพืชเกษตรเพื่อการกินและสมุนไพร 3) ปลูกไม้เป็นพลังงาน เช่น ไม้ฟืน และไม้ไผ่ เป็นต้น และ 4) ประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธาร สร้างความสมบูรณ์และก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า
เลขาธิการ ส.ป.ก. ยังได้ให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมแก่การใช้ปลูกนั้น ขอให้เน้นพันธุ์ไม้พื้นถิ่น เพราะเจริญติบโตได้ดี เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และเป็นที่รู้จักของประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ขณะที่วิธีการปลูกให้ปลูกเสริมในลักษณะธรรมชาติ ไม่จับต้นไม้เข้าแถว เพราะเมื่อต้นไม้โตขึ้นจะมีสภาพเป็นป่าตามธรรมชาติ
ฐานการเรียนรู้ที่ 2 “บริหารจัดการน้ำ ตามศาสตร์พระราชา” เลขาธิการ ส.ป.ก. ชี้แจงว่า ฐานการเรียนรู้นี้ ได้นำเสนอเกี่ยวกับระบบ “ประปาภูเขา” เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่โครงการเกษตรวิชญา ซึ่งสามารถกักเก็บและนำน้ำไปใช้ประโยชน์ผ่านระบบท่อส่งน้ำ กระจายครอบคลุมพื้นที่โครงการ อีกทั้งการสร้างความตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าแก่เกษตรกรและชุมชน ส่งผลให้พื้นที่ป่าได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศและชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี มีแหล่งอาหารธรรมชาติสร้างสมดุล ให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
ฐานการเรียนรู้ที่ 3 “ต่อยอดพฤกษ์พนา คุณค่าพันธุ์ไผ่” โดยมีการให้ความรู้เกี่ยวกับ ไผ่ พืชเมืองร้อน แต่ก็สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกทวีป ซึ่งดร.วิณะโรจน์ กล่าวว่า ประเทศไทยสำรวจพบไผ่มากกว่า 72 ชนิด กระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ และในพื้นที่ธนาคารอาหารชุมชน “เกษตรวิชญา” พบไผ่ถึง 8 ชนิด คือ ไผ่หวาน ไผ่หก ไผ่ขาง ไผ่ไร่ ไผ่รวก ไผ่เลี้ยง ไผ่บง ไผ่ข้าวหลาม วันนี้ชาวบ้านกองแหะ สามารถใช้ประโยชน์จากไผ่ โดยนำมาใช้เป็นอาหาร สร้างที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ รวมถึงการสร้างรายได้
ฐานการเรียนรู้ที่ 4 “สมุนไพรถิ่นไทย ประโยชน์มากหลากหลาย” ที่เน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งในพื้นที่ธนาคารอาหารชุมชน “เกษตรวิชญา” มีสมุนไพรพื้นบ้านอยู่มาก ทั้ง สมุนไพรประเภทต้น เช่น กระท้อน ขนุน ขี้เหล็ก ขลู่ แคป่า สมุนไพรประเภทเถา-เครือ เช่น มะระขี้นก พริกไทย สมุนไพรประเภทผัก เช่น กะเพรา ผักแพว พริกขี้หนู ชะอม ผักกูด สมุนไพรหญ้า เช่น ขลู่ หญ้าแฝก และสมุนไพรประเภทหัว-เหง้า เช่น กระเทียม กระชาย กลอย ขมิ้นชัน ขิง ข่า ไพล
ฐานการเรียนรู้ที่ 5 “ชะลอน้ำด้วยฝาย สราญใจถ้วนทั่ว” โดยในพื้นที่ธนาคารอาหารชุมชน ส.ป.ก.ได้มีการจัดสร้างฝายขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากของจริง โดยการสร้างฝายกั้นน้ำนั้น ส่วนใหญ่จะถูกสร้างบริเวณลำห้วย ลำธารขนาดเล็ก ในช่วงต้นน้ำ ช่วยคงความชุ่มชื้นได้เป็นเวลานาน สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี แถมยังช่วยเก็บกักตะกอนได้อีกด้วย สร้างประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตในพื้นที่มากมาย เช่น แมลง สัตว์ป่า พืชพันธุ์นานาชนิด ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ
ฐานการเรียนรู้ที่ 6 “ธนาคารพืชหัว คู่ครัววิถีไทย” เป็นการนำเสนอความรู้ที่เกี่ยวกับพืชหัว เพื่อให้ทราบถึงชนิดของพืชหัว เช่น ชนิดของพืชหัว แบ่งออกเป็น พืชหัวที่เกิดจากกาบใบ เช่นหอมหัวแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม ใช้รับประทานเป็นผัก และเป็นพืชสมุนไพร หัวที่เกิดจากเหง้า เช่น แห้ว และหัวที่เกิดจากราก เช่น มันสำปะหลัง มันแกว เป็นต้น
ในวันนี้ ธนาคารอาหารชุมชน “เกษตรวิชญา” จึงเป็นทั้งแหล่งอาหารของคนในพื้นที่ และแหล่งความรู้ที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ผ่านฐานเรียนรู้ที่ ส.ป.ก.ได้ดำเนินการจัดทำขึ้น เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงมุ่งเน้นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรของพระองค์ และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า มั่นคง ตลอดไป