อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เฟืองอีกตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตะวันออก
อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเก็บน้ำได้ 99.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยพื้นที่แล้งซ้ำซากให้ราษฎรลุ่มน้ำคลองวังโตนด ที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งที่ทวีขึ้นทุกปี
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานน้อมรับคำแนะนำจากทุกภาคส่วนกรณีโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี จึงได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรับข้อสั่งการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)ที่ได้พิจารณาและได้ตั้งให้ความเห็นในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อนำมาสู่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และพร้อมที่จะดำเนินการตามาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมย่างเคร่งครัด เพื่อให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นต่อโครงการที่กรมชลประทานดำเนินการ ทั้งนี้กรมได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIMP) รายงานต่อ กก.วล. ประกอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง(EHIA) รวม 38 แผนงาน แยกเป็นแผนปฏิบัติการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม 19 แผนงานและแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม 19 แผนงาน โดยกรมจะสนับสนุนงบประมาณให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามแผน EIMP ระยะเวลา 15 ปี
กรมชลฯขอย้ำว่าได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูผลกระทบทุกภาคส่วนทั้งคน ช้าง ป่าไม้ และภาคสังคม จึงได้มีแผนปฏิบัติการ EIMP ซึ่งมาจากการหารือร่วมกันทุกฝ่าย โดยผลกระทบกับประชาชนที่ต้องโยกย้ายจากพื้นที่น้ำท่วม 580 ครัวเรือน จะมีการจ่ายค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินที่เป็นธรรมตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และกรณีประชาชนที่เป็นเกษตรกรรายย่อยหรือประชาชนที่มีที่ดินน้อย เงินที่ได้รับอาจไม่พอที่จะสร้างบ้านใหม่ กรมชลฯได้ประสานกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ในการเตรียมพื้นที่ 800 ไร่ สำหรับสร้างบ้านมั่นคงชนบท และส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน
สำหรับสัตว์ป่าเช่น ช้างป่ากรมชลฯได้หารือกับกรมอุทยานฯอย่างใกล้ชิดและรับฟังทุกภาคส่วน มีมาตรการออกมาเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อป้องกันและรักษาช้างป่า ขณะเดียวกันจะลดปัญหาช้างออกมานอกพื้นที่ป่าสร้างความเสียหายแก่ชีวิตทั้งคนและช้าง อาทิการจัดสร้างอ่างน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ป่า สร้างโป่งเทียม แหล่งอาหารสัตว์ ปลูกพืชที่เป็นอาหารสัตว์ และสร้างแนวป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่อุทยาน ซึ่งกรณีนี้สามารถเห็นตัวอย่างจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาหรืออ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรี ที่ปัจจุบันมีสัตว์ป่าลงมากินน้ำจำนวนมากกลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญของสัตว์ป่าและเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของคนในพื้นที่
“น้ำในพื้นที่ 4 อ่าง คืออ่างคลองประแกด คลองพะวาใหญ่ คลองหางแมว และคลองวังโตนด หากสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีน้ำ 308 ล้าน ลบ.ม. กรมชลฯจะสร้างประตูระบายน้ำ ฝายทดน้ำตลอดเส้นทางคลองวังโตนดเพื่อยกระดับน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด จึงเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับ จันทบุรี สามารถสนับสนุนน้ำดิบให้การประปาสาขาจันทบุรีอีก15 ล้านลบ.ม.ต่อปี และในฤดูฝนจะมีการผันน้ำประมาณ 140 ล้านลบ.ม. ไปเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยองซึ่งเป็นมหานครผลไม้ของภาคตะวันออก และเพื่อช่วยพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซีอีกด้วย”
ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด กล่าวว่า คนคลองวังโตนดเริ่มนับวันแล้วว่าจะสามารถเดินหน้าสร้างเก็บน้ำแห่งนี้ได้เมื่อไหร่เพราะแล้งซ้ำซากมาหลายปีจนพืชผลไม้เสียหายเป็นทุกข์กันทุกปี จึงหวังว่าภาคราชการทุกฝ่ายจะได้ช่วยกันขับเคลื่อนให้โครงการนี้ได้เกิด และร่วมมือกันฟื้นฟูธรรมชาติที่ต้องเสียไปกับพื้นที่สร้างอ่างให้กลับมาโดยเร็วและดีกว่าเดิม ซึ่งการทำEHIA คนในพื้นที่รับทราบและมีบทบาทในการให้ข้อมูล ขณะที่ปัญหาความแห้งแล้งนับวันรุนแรงมากขึ้น ฝนปีละ1,200 ล้านลบ.ม. ตกแล้วไม่มีอะไรมาเก็บ ซึ่ง ณ เดือนมิ.ย. 64 ส่อแววแล้งอีก ถามว่าหากจันทบุรีไม่มีทุเรียนจะเป็นอย่างไร ในเรื่องนี้จึงต้องการบอกสังคมว่าขอให้ส่งใจช่วยคนตะวันออก ให้มีความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ด้วยและหากเป็นไปได้อยากให้ทุกคนได้ลงมาดูพื้นที่จริงว่า คนวังโตนดอยู่และทำมาหากินกันอย่างไร
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด มีความจุ 99.5 ล้านลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 87,700 ไร่ เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการอุปโภค-บริโภค 3.89 ล้านลบ.ม./ เป็นแหล่งน้ำสำรองน้ำดิบให้ กปภ.จันทบุรี 15 ล้านลบ.ม./ปี สนับสนุนน้ำส่วนเกินให้พื้นที่อีอีซี สูงสุด 140 ล้านลบ.ม./ปี บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด 5,575 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.ท่าใหม่ อ.นายายอาม และ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี