กรมประมงเปิดตัว “กุ้งขาวสิชล 1” หลังวิจัยได้สำเร็จ

กรมประมงโชว์ผลงานวิจัย “กุ้งขาวสิชล 1” หลังปรับปรุงพันธุกรรมกุ้งขาวแวนาไมให้เป็นสายพันธุ์คุณภาพได้สำเร็จ การันตี !! เลี้ยงง่าย โตไว ไร้โรค และให้ผลผลิตสูง พร้อมกระจายพ่อแม่พันธุ์สู่เกษตรกรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ พุ่งเป้าเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันในตลาดโลก
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่ากรมประมงมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรองรับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคพร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำนับได้ว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมประมงของไทย เนื่องจากสัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติมีปริมาณไม่แน่นอนและมีแนวโน้มลดลงจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกทั้งในด้านการเพาะเลี้ยงยังมีข้อจำกัดด้านผลผลิตจากปัญหาโรคระบาดต่าง ๆ ขณะที่ความต้องการบริโภคสัตว์น้ำยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น
กรมประมงจึงให้ความสำคัญและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อพัฒนา
สายพันธุ์ให้มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยง และลดปัญหาการผสมเลือดชิดที่อาจส่งผลให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์น้ำลดลง

กุ้งขาวแวนนาไม (Litopenaeus vannamei Boone, 1931) นับเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เกษตรกรจึงมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย โดยจากข้อมูลในปี 2563 มีปริมาณผลผลิตประมาณ 372,378 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 54,601 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่า 33.25% ของมูลค่าผลผลิตสัตว์น้ำทั้งหมด กรมประมงจึงได้มีดำเนินการศึกษา วิจัยปรับปรุงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรที่ต้องการพันธุ์กุ้งขาวคุณภาพดี เลี้ยงง่าย โตไว ไร้โรค และให้ผลผลิตสูง

ด้านนายกฤษณุพันธ์ โกเมนไปรรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการทดลองปรับปรุงพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไม มาตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2547โดยรวบรวมประชากรกุ้งขาวจากในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และกระบี่ เพื่อนำมาผสมข้ามแหล่งพันธุ์ และดำรงพันธุ์ไว้เรื่อยมาจนถึงรุ่นที่ 4 หรือ F4 หลังจากนั้น จึงได้มีการปรับปรุงพันธุ์ และคัดสายพันธุ์ตามหลักพันธุศาสตร์ โดยใช้กุ้งขาว รุ่นที่ 4 เป็นประชากรพื้นฐาน หรือ Base Population จำนวน 250 คู่ เพื่อสร้างประชากรตั้งต้นหรือ รุ่น P0 จำนวน 50 ครอบครัว (50 แม่) พร้อมทำการทดสอบความต้านทานโรคตายด่วนในกุ้ง

(Early Mortality Syndrome, EMS) ในลูกกุ้งระยะ PL25-35 แล้วคัดเลือกจำนวน 34 ครอบครัว เพื่อเลี้ยงแบบแยกครอบครัวจนเป็นพ่อแม่พันธุ์ ทำการคัดเลือกโดยดูลักษณะภายในครอบครัว (Within family selection) แล้วจึงนำมาผสมพันธุ์ โดยใช้พ่อแม่พันธุ์จำนวน 250 คู่ ผลิตลูกกุ้งรุ่น G1 จนได้ลูกจำนวน 23 ครอบครัว (23 แม่) เพื่อเลี้ยงเป็นกุ้งขาวแวนนาไมสายพันธุ์หลัก หรือพันธุ์ขยาย ของศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ การดำรงรักษาสายพันธุ์ จะใช้วิธีการคัดเลือกพันธุ์โดยวิธีการคัดเลือกมาตรฐาน (Conventional selection) โดยใช้พ่อแม่พันธุ์รุ่น G1 ไม่น้อยกว่า 250 คู่ สร้างประชากรรุ่น G2 จำนวน
50 ครอบครัว แล้วสุ่มกุ้งจากทุกครอบครัวในจำนวนที่เท่ากัน เลี้ยงรวมกันจนมีอายุ 120 วัน จึงทำการคัดและแยกเพศ คัดเลือกโดยวิธีการคัดเลือกแบบดูลักษณะตัวเอง (Individual selection) เพศละ 250 ตัว แล้วใช้การผสมแบบรวมกลุ่ม (Mass spawning) สร้างประชากรรุ่นถัดไปไม่น้อยกว่า 50 ครอบครัว กระทั่งปัจจุบันได้คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์รุ่น G3 ผลิตลูกรุ่น G4 โดยในแต่ละรุ่นได้ทำการดำรงพันธุ์หลักไว้ประมาณ 1,000 ตัว/รุ่น

           สำหรับ “กุ้งขาวสิชล 1” ที่ทางศูนย์ฯ พัฒนาได้สำเร็จเป็นกุ้งที่ปลอดจากเชื้อที่กําหนด 8 โรค ได้แก่

โรคตัวแดงดวงขาว (WSSV) โรคทอร่า (TSV) โรคกล้ามเนื้อขาวหรือกล้ามเนื้อตาย (IMNV) โรคแคระแกร็น (IHHNV) โรคหัวเหลือง (YHV) โรค covert mortality nodavirus (CMNV) โรคตายด่วนเนื่องจากแบคทีเรียที่
ทําให้เกิดตับวายเฉียบพลัน (EMSAHPND) และเชื้อ Enterocytozoon hepato penaei (EHP) นอกจากนี้
ยังมีการพัฒนาพันธุ์จนมีการเจริญเติบโตด้านน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากพันธุ์เดิมถึง 32.54–34.58 เปอร์เซ็นต์
มีประสิทธิภาพผลผลิตเฉลี่ย เท่ากับ 15.65 ตัน/ล้านตัว สามารถนําไปเลี้ยงและกระจายพันธุ์ได้ตอนกุ้งมีอายุ
90 วัน โดยอัตราการปล่อยที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 100,000–150,000 ตัว/ไร ความเค็มของน้ำระหว่าง 10–20 ppt ทั้งนี้ ผลผลิตที่ได้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและสภาพแวดล้อมในระหว่างการเลี้ยง รวมถึงการตรวจสุขภาพกุ้ง
อย่างสม่ำเสมอด้วย

  รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้กรมประมงได้มีการจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวสิชล 1 เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงเพาะฟักได้นำไปเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตแล้วเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

ในราคาตัวละ 100 บาท โดยคาดว่าจะมีผลผลิตลูกพันธุ์ PL ล็อตแรกออกจำหน่ายได้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 นี้ นอกจากนี้ กรมประมงยังมีลูกพันธุ์กุ้งขาวสิชล 1 พันธุ์ขยายระยะ PL12-15 จำหน่ายในราคาตัวละ
22 สตางค์ สำหรับให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกพันธุ์ด้วย พร้อมทั้งมีพันธุ์จำหน่ายระยะ
นอร์เพลียส ในราคาล้านละ 5,000 บาท และระยะ PL12 ราคาตัวละ 12 สตางค์ สำหรับให้เกษตรกรนำไปเลี้ยง
เพื่อเพิ่มผลผลิตในบ่อดินด้วย

ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช กรมประมง โทรศัพท์ 075-536157 ในวันและเวลาราชการ