“รองนายกฯ ประวิตร” ไฟเขียวโครงการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา ระยะที่ 1 ลดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 600 ล้านบาท/ปี
วันที่ 11 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบ VDO Conference ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เมืองพัทยา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงาน กปร. กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมเจ้าท่า เป็นต้น
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ได้พิจารณาและติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญหลายโครงการ เพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2564 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 นี้ โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและเมืองพัทยา เร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา ระยะที่ 1 จังหวัดชลบุรี ภายใต้แผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง พร้อมมอบหมายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเสนอมาตรการปลูกป่าทดแทน ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ และประสานการรถไฟแห่งประเทศไทยและเมืองพัทยา สำหรับการขออนุญาตการใช้พื้นที่ในการก่อสร้างและด้านการถ่ายโอนทรัพย์สินเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นต้น โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมโครงการที่รับผิดชอบ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้ตามแผนที่ได้วางไว้ เพราะแต่ละโครงการอยู่ในเป้าหมายที่ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศในภาพรวมเป็นไปอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านน้ำตามบริบทของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับเมืองพัทยา ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง จำแนกพื้นที่พัทยาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยเมืองพัทยา (พื้นที่ชุมชนหนาแน่นมาก) 2.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยคลองนาเกลือ–ห้วยมาบประชัน และคลองกระทิงลาย (พื้นที่ชุมชนหนาแน่นปานกลางและชุมชนชานเมืองของเมืองพัทยา) และ 3.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยห้วยใหญ่ (พื้นที่ชุมชนหนาแน่นน้อยและชุมชนชานเมืองของเมืองพัทยา) โดยมีแผนงานรองรับแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตามความเร่งด่วน ดังนี้ ระยะเร่งด่วน (1-5 ปี) โดยดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำในพื้นที่กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ระยะกลาง (6-10 ปี) ประกอบด้วย งานปรับปรุงคลอง ก่อสร้างท่อระบายน้ำสายหลักและสายรอง ซึ่งต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วน และระยะยาว (11-20 ปี) ประกอบด้วย งานปรับปรุงคลอง ก่อสร้างท่อระบายน้ำในส่วนที่เหลือ
ทั้งนี้ ตามแผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่องในระยะเร่งด่วน (1-5 ปี) แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา ระยะที่ 1 จังหวัดชลบุรี ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นงานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ในพื้นที่พัทยาใต้ โดยเป็นระยะที่ต้องดำเนินการด่วนมากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่วิกฤตและมีปัญหาน้ำท่วมขังมากที่สุดเมื่อเกิดฝนตกหนัก ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด ระยะที่ 2 อุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท–พัทยา 34–พัทยา 6 และอุโมงค์ซอยสุขุมวิท-พัทยา 54–ซอยเทพประสิทธิ์ 9–ซอยจอมเทียน 7 ดำเนินการโดยเมืองพัทยาร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และระยะที่ 3 ท่อระบายน้ำหลักส่วนที่เหลือ ดำเนินการโดยเมืองพัทยาร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำท่วมหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา ระยะที่ 1 จังหวัดชลบุรี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับน้ำฝนได้ 80 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ 15.39 ตารางกิโลเมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 38,740 ครัวเรือน สามารถลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 600 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ น้ำหลากที่เร่งระบายยังสามารถสูบน้ำกลับเพื่อเก็บกักไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งได้ ซึ่งมติกนช. เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ได้ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและเมืองพัทยา ประสานกรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค ในการสูบน้ำกลับเพื่อกักเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทั้งนี้ตามแผนหลักฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการสูบน้ำกลับเพื่อกักเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไว้ในแผนระยะยาว (ปี 2575 เป็นต้นไป) พื้นที่ดำเนินการอยู่นอกเขตเมืองพัทยา จำนวน 4 แห่ง นอกจากนี้ เมืองพัทยาได้อนุญาตให้การประปาส่วนภูมิภาค สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำแก้มลิงห้วยใหญ่กลับไปยังห้วยซากนอกได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำและสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับมิติการสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป