สทนช.แจงการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี มีผลงานการันตี
สทนช.แจงการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี มีผลงานการันตี ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 2 ล้านครัวเรือน นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการจัดแผนงานและโครงการต่างๆ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยืนยัน EEC มีความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมเร่งผลักดันการทำงานในรูปแบบคณะทำงานและคณะอนุกรรมการเพื่อให้นโยบายและแผนงาน/โครงการต่างๆ ขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม
จากกรณีที่นายจิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวหน้า อภิปรายในการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับผลงานของรัฐบาลด้านน้ำ การขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ไม่เป็นรูปธรรม ในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันออกมีการลงทุนในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น แต่กลับไม่มีหลักประกันในการจัดสรรน้ำ ส่วนโครงสร้างในการบริหารงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก็ไม่คล่องตัว มีคณะทำงานและคณะอนุกรรมการจำนวนมาก
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ชี้แจงว่า รัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความสำคัญกับนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และกำหนดให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ โดยมี สทนช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลด้านการบริหารจัดทรัพยากรน้ำทำหน้าที่บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ และได้ขับเคลื่อนการดำเนินการจนมีผลงานความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ที่สอดคล้องตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ในปัจจุบัน สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการผ่านกลไกของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) คณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีผู้แทนส่วนราชการและท้องถิ่น ผู้ใช้น้ำภาคต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ ทำให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและเสนอแนะข้อคิดเห็นในกระบวนการจัดทำแผนงาน/โครงการ มีการบูรณาการ วิเคราะห์ ตรวจสอบ และกลั่นกรองแผนงาน/โครงการ งบประมาณด้านน้ำจะถูกใช้อย่างคุ้มค่าตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง นอกจากนี้ สทนช.ยังได้นำเทคโนโลยีใหม่ พัฒนาระบบ Application “Thai Water Plan” มาใช้ในการตรวจสอบแผนงาน/โครงการ ในลักษณะ One Plan ทำให้ทุกหน่วยงานจะมีแผนงานด้านทรัพยากรน้ำที่เป็นหนึ่งเดียวกัน สามารถตรวจสอบ กลั่นกรอง วิเคราะห์ ข้อมูลแผนงาน/โครงการได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น มีความโปร่งใส สามารถลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนและใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด นอกจากนั้น ปัจจุบัน สทนช. อยู่ในระหว่างดำเนินการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำใหม่ เพื่อเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำชุดใหม่ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้ และจะได้นำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาต่อไป
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินงานโครงการด้านน้ำตามแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี มีผลสัมฤทธิ์ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันสามารถพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำได้ถึง 1,139.84 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่รับประโยชน์ 2.52 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ชลประทานมากกว่า 1.42 ล้านไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 2.27 ล้านครัวเรือน รวมทั้งยังสามารถลดความเสียหายจากภัยทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่มีความรุนแรงมาก แต่การบริหารจัดการน้ำในเชิงป้องกัน วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และหาแหล่งน้ำสำรอง ทำให้มีการประกาศภัยแล้งเพียง 30 จังหวัด 891 ตำบล ใน 7,662 หมู่บ้าน ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2563-64 ที่ผ่านมา พบว่าไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งเลย ในขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมก็ลดลง ช่วงฤดูฝนปี 2562 มีความเสียหายเพียง 94 ล้านบาท ซึ่งเป็นความเสียหายที่น้อยที่สุดตั้งแต่หลังมหาอุทกภัยในปี 2554 เป็นต้นมา ส่วนปี 2563 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 58 จังหวัด มูลค่าความเสียหาย 223 ล้านบาท ต่ำสุดเป็นลำดับที่ 3 ในรอบ 9 ปี ในส่วนการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่ง สทนช.ได้ศึกษาความต้องการใช้น้ำของ EEC ในช่วงระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2580) พบว่า ในปี 2560 มีน้ำต้นทุน 2,539 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ 2,419 ล้าน ลบ.ม. และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,888 ล้าน ลบ.ม. และ 3,089 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2570 และปี 2580 ตามลำดับ ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการทรัพยากรน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการน้ำในทุกกิจกรรม ทั้งในภาคอุปโภคบริโภค ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม
“สทนช.ได้เสนอ กนช. เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับ EEC (ปี 2563 – 2580) รวมจำนวนทั้งสิ้น 38 โครงการ วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 52,881.47 ล้านบาท มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 872.19 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะเพียงพอต่อการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง ระบบสูบน้ำกลับเข้าอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา การพัฒนาระบบบาดาลขนาดใหญ่ เป็นต้น โดยในปี 2564 จะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 2.44 ล้าน ลบ.ม. ปี 2567 จะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 151.20 ล้าน ลบ.ม. ปี 2569 ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีก 183.50 ล้าน ลบ.ม. และปี 2573 จะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 426 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่าในพื้นที่ EEC จะมีความมั่นคงในเรื่องน้ำอย่างแน่นอน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการทำงานของ สทนช. ในปัจจุบันมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนเจ้าหน้าที่ ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำมากถึง 53 หน่วยงาน จาก 13 กระทรวง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีก 7,850 แห่ง ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำงานเชิงบูรณาการ อาศัยกลไกการทำงานเป็นคณะทำงานและคณะอนุกรรมการ ที่มาจากผู้แทนจากทุกภาคส่วนและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีหลายคณะ เนื่องจากปัญหาด้านน้ำนอกจากเรื่องการพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการ และด้านเทคนิควิชาการแล้ว ยังมีอีกหลายมิติที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องมีคณะทำงานและคณะอนุกรรมการเพื่อให้ความเห็นและข้อมูลที่มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการบูรณาการจากหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม
ทั้งนี้ สทนช. ได้จัดทำแนวทางและสร้างกลไกลเพื่อให้พื้นที่ในระดับท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดทำและให้ความเห็นต่อแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ โดยให้หน่วยงานของรัฐและอปท. นำแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ เสนอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ และ กนช. พิจารณาเห็นชอบ ตามลำดับ ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินการอย่างแท้จริง ซึ่งการประชุม กนช. จะประชุมไตรมาสละครั้ง แต่หากมีวาระเร่งด่วน ก็สามารถจัดประชุมเพิ่มเติมได้ โดยแผนปฏิบัติการด้านน้ำทั้งหมดต้องให้ กนช. วิเคราะห์ในภาพรวมทั้งระบบและพิจารณาเห็นชอบ ก่อนที่หน่วยงานต่างๆ จะนำแผนปฏิบัติการไปขอตั้งงบประมาณประจำปี เพื่อให้การเสนอแผนงาน/โครงการสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่จริง ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
“ในปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับชาติ (คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ระดับลุ่มน้ำ (คณะกรรมการลุ่มน้ำ) และระดับพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำ (องค์กรผู้ใช้น้ำ) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วม เป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง เป็นการสะท้อนปัญหา ความต้องการ และการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากระดับพื้นที่ สู่การกำหนดแผนงาน/โครงการ และผลักดันเป็นนโยบายเพื่อขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และในขณะเดียวกันเป็นการแปลงแผนและนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ที่สำคัญส่งผ่านไปยังพื้นที่ให้เกิดผลสัมฤทธ์ได้เป็นรูปธรรม เป็นกลไลที่เชื่อมโยง สนับสนุนการดำเนินงานด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ นอกเหนือจากการดำเนินงานโดยปกติของหน่วยงานภาครัฐ” ดร.สมเกียรติ กล่าวสรุปในตอนท้าย