ชุดเฉพาะกิจแก้น้ำเค็มรุก เล็งชง “รองนายกฯ ประวิตร” เคาะแผนเร่งด่วน-กลาง-ยาว ปลายเดือนนี้
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมาย สทนช.หารือร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง กลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ เจ้าพระยา แม่กลอง บางประกง และท่าจีน ที่ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน ซึ่งจากการประชุมครั้งล่าสุดเป็นการหารือครั้งที่ 3 สทนช.ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยบูรณาการข้อมูลการวิเคราะห์ คาดการณ์แนวโน้มผลกระทบจากการรุกตัวของน้ำเค็มที่จะเกิดขึ้นอนาคต สภาพปัญหาในพื้นที่ แผนงานโครงการที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เคยมีการศึกษาไว้จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมสงเสริมการเกษตร เป็นต้น มาวิเคราะห์และผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุม ให้ได้ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่ดีสุด หากมาตรการใดที่หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ทันที มีงบประมาณรองรับแล้วจะจัดไว้ในกลุ่มมาตรการระยะเร่งด่วนภายในปี 2564 – 2565 โดยเบื้องต้นมาตรการระยะสั้น หรือระยะเร่งด่วน ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอขอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำ 11 จังหวัด จากทั้ง 4 ลุ่มน้ำเรียบร้อยแล้ว และจะปรับปรุงเพิ่มเติ่มตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ จากการประชุมครั้งนี้ ต่อไป
สำหรับมาตรการระยะกลางที่จะเริ่มดำเนินการในปี’ 66 และระยะยาว ที่นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมนั้น ได้มีการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาในอนาคต ซึ่งยังคงมีแนวโน้มความต้องการใช้น้ำที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการรุกล้ำของน้ำเค็ม การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลมีแนวโน้มระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น การพัฒนาเชิงพื้นที่ การอุปโภคบริโภค การเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ระบบนิเวศ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ด้านคุณภาพน้ำ นำมาวิเคราะห์เป็นปัจจัยกำหนดแผนงานโครงการที่ต้องกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนตามภารกิจ ซึ่งบางมาตรการและแผนงานโครงการต้องมีความต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วนด้วย ที่ต้องบรรจุอยู่ในแผนแม่บทลุ่มน้ำและผนวกในการจัดทำผังน้ำ โดยผ่านการพิจารณากลั่นกรองของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดให้ความเห็นชอบแผนงานโครงการที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกตัว ไม่ส่งผลกระทบในมิติอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ระบบนิเวศลำน้ำ สัตว์น้ำ หรือภาคเกษตร เป็นต้น
“จากนี้ไป สทนช.จะสรุปข้อมูลแผนงานต่างๆ จากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกตัวระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน พิจารณาประมาณสิ้นเดือนนี้ ตามกรอบระยะเวลา 90 วัน ทั้งนี้ หากแผนงานโครงการใดมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง จะต้องเสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 แต่หากแนวทางใดที่ยังไม่มีความชัดเจนหรือยังมีข้อห่วงกังวล จะถูกกำหนดเป็นทางเลือกในการศึกษาวิจัยในอนาคต ที่ผู้แทนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นประกอบการขับคลื่อนแผนงานโครงการ ซึ่งอาจนำไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่าสอดคล้องกับความต้องการทั้ง 4 ลุ่มน้ำได้เช่นกัน”ดร.สมเกียรติ กล่าว.