ผู้กล้าชุมพร ถาม ใครรื้อ “สะพานเหล็กท่านางสังข์” อนุสรณ์รำลึกวีรชนผู้กล้า สงครามมหาเอเซียบูรพา ปัจจุบันเหลือแต่ตอหม้อ
พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ หรือ ที่คนชุมพรรู้จักกันในชื่อ ผู้กำกับหนุ่ย โพสต์เฟซบุค ถามหา “สะพานเหล็กท่านางสังข์” ซึ่งเป็นอัตตลักษณ์แห่งการเสียสละของวีรชนผู้กล้า ที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องอธิปไตยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการสู้รบกำลังทหารญี่ปุ่น ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งจนเหลือแต่ตอหม้อ โดยไม่ทราบสาเหตุของการรื้อที่แน่ชัด
พ.ต.อ.ทศพล กล่าวว่า ทุกวันที่ 8 ธันวาคมของทุกปี จะมีการวางพวงมาลาที่ อนุสาวรีย์วีรไทย (ยุวชนทหาร) เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของยุวชนทหาร และผู้บังคับบัญชาที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติไทย โดยชาว จ.ชุมพรยึดถือวันดังกล่างเป็น “วันวีรไทย” หรือ “วันยุวชนทหาร” โดยได้ปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้
“วันก่อนผมไปแวะสักการะ อนุสาวรีย์ ยุวชนทหาร และสังเกตว่า “สะพานเหล็กท่านางสังข์” ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นอัตตลักษณ์ แห่งประวัติศาสตร์ของชาว ท่ายาง ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 4001 สายชุมพร-ปากน้ำ ห่างจากอำเภอเมืองชุมพร ประมาณ 5 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ประกอบวีรกรรมของ หน่วยยุวชนทหารที่ 52 ตำรวจ ทหารและประชาชน ซึ่งได้ปะทะต่อสู้ถึงขั้นตะลุมบอน ณ บริเวณสะพานท่านางสังข์กับกองทหารญี่ปุ่น ที่ยกพลขึ้นบกจากหาดคอสน ต.ทายาง อ.เมือง จ.ชุมพร ทำให้ผู้บังคับหน่วยยุวชนทหารและผู้กล้าหาญ เสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 5 นาย ซึ่งครอบครัว และลูกหลานผู้เสียชีวิตก็ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ พวกเขาอยากเห็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำและความเสียสละของบรรพบุรุษ ได้คงอยู่ในลูกหลานได้ศึกษาต่อไป ผมจึงอยากทราบว่า พอมีใครทราบเหตุผลของรื้อสะพานเหล็กแห่งนี้ไหม และรื้อไปทำอะไร เพราะสภาพปัจจุบันคือเหลือแต่ตอหม้อ” ผู้กำกับหนุ่ย กล่าว
พ.ต.อ. ทศพล กล่าวว่า สถานที่แห่งนี้ ควรจะพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นสถานที่ออกกำลังกาย สร้างรายได้ให้กับพี่น้องในชุมชน ต.ท่ายาง เช่นเดียวกับสะพานข้ามแม่น้ำแควสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จังหวัด กาจญบุรี ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่น่าเสียดาย ในขณะที่สถานที่ประวัติศาสตร์ของ จ.ชุมพร ในช่วงเวลาเดียวกัน กลับขาดการเหลียวดูจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ควรจะเป็น
พ.ต.อ.ทศพล กล่าวด้วยว่า จากการพูดคุยกับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง ส่วนใหญ่ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทางราชการจะให้ความสำคัญกับสถานที่แห่งนี้เพียงปีละครั้งคือ วันที่ 8 ธันวาคม ถ้าเลือกได้พวกเขาก็อยากจะให้มีการดูแล จัดภูมิทัศน์ให้เรียบร้อยและสวยงาม เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษของพวกเขาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสะพานท่านางสังข์ ที่ถูกรื้อถอนไปนั้น อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ กรมทางหลวง แขวงทางหลวงชุมพร