ไทยปลื้ม “FAO – EU” เชิญขึ้นพูดเวทีโลกแถลงความสำเร็จต้นแบบแก้ปัญหาประมง IUU 31 พ.ค. นี้

ไทยเตรียมร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี – เจ้าหน้าที่ระดับสูง มาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) 31 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2564 นี้ ชี้ FAO – EU ยกไทยต้นแบบแก้ปัญหาประมง IUU อย่างยั่งยืน พร้อมเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไทย “ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีโลก

​​นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง (High – Level Event) ว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (Port State Measures Agreement หรือ PSMA) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ (Virtual Meeting) จัดโดยองค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Commission : EU) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU Fishing) และส่งเสริมการดำเนินงานตามข้อตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) ให้แก่ประเทศสมาชิก 194 ประเทศ เพื่ออนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรประมงและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน

​​ทั้งนี้ FAO และ EU ได้เรียนเชิญ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็น 1 ใน 6 รัฐมนตรี จาก 6 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สาธารณรัฐฟิจิ สาธารณรัฐโมซัมบิก สาธารณรัฐเปรู สเปน และประเทศไทย ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ระดับรัฐมนตรี (Testimonial Statement) ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 อันเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงวิสัยทัศน์ และแถลงผลงานความสำเร็จ ในระดับประเทศในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และผลการดำเนินงานตามข้อตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการตรวจสอบเรือประมงและสินค้าประมง ณ ท่าเทียบเรือ ที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

​​สำหรับประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ได้ทำงานบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การกำหนดนโยบายด้านการประมงของคณะกรรมการนโยบาย การประมงแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีรัฐบาลไทยผลักดันและขับเคลื่อนเป็นนโยบายระดับประเทศ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ กับผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน และกิจกรรมอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่อง

​​ กรมประมงในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เล็งเห็นถึงความสำคัญของมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) และได้ดำเนินการมาตรการอย่างเข้มข้น เพราะตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ มิใช่เฉพาะแต่ของประเทศไทยแต่หมายถึงทรัพยากรของโลกโดยรวม จนองค์กร FAO และ EU ได้ยกย่องประเทศไทยเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหา IUU อย่างยั่งยืน อธิบดีกรมประมง กล่าว